วันจันทร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2558

ว่าด้วยเทวทูต ๓ จำพวก


ภิกษุทั้งหลาย เทวทูต ๓ จำพวกนี้ 
เทวทูต ๓ จำพวกไหนบ้าง คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ประพฤติกายทุจริต (ความประพฤติชั่วด้วยกาย) วจีทุจริต (ความประพฤติชั่วด้วยวาจา) และมโนทุจริต (ความประพฤติชั่วด้วยใจ) หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก 

นายนิรยบาลจับแขนเขา ไปแสดงต่อพญายมว่า “ขอเดชะ คนผู้นี้ไม่เกื้อกูลมารดา ไม่เกื้อกูลบิดา ไม่เกื้อกูลสมณะ ไม่เกื้อกูลพราหมณ์ และไม่อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสกุล ขอพระองค์จงลงโทษ แก่คนผู้นี้เถิด”

ภิกษุทั้งหลาย พญายมสอบสวนซักไซ้ไล่เลียงเขาถึงเทวทูตที่ ๑ ว่า “เจ้าไม่เคยเห็นเทวทูตที่ ๑ ปรากฏในหมู่มนุษย์บ้างหรือ” เขาตอบว่า “ไม่เคยเห็น พระเจ้าข้า”

พญายมถามเขาว่า “ในหมู่มนุษย์ สตรีหรือบุรุษมีอายุ ๘๐ ปี...๙๐ ปี...หรือ ๑๐๐ ปี...เป็นคนชรา มีซี่โครงคด หลังโกง หลังค่อม ถือไม้เท้า เดินงก ๆ เงิ่น ๆ เก้ ๆ กัง ๆ หมดความเป็นหนุ่มสาว ฟันหัก ผมหงอก ศีรษะล้าน หนังเหี่ยว ตัวตกกระ เจ้าไม่เคยเห็นบ้างหรือ” เขาตอบว่า “เคยเห็น พระเจ้าข้า”

พญายมถามเขาว่า “เจ้านั้นเป็นผู้รู้เดียงสา เป็นผู้ใหญ่ ไม่ได้คิดอย่างนี้เลยหรือว่า " "ถึงตัวเราก็มีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ เอาเถอะเราจะทำความดี ทางกาย วาจา และใจ” เขาตอบว่า “ไม่เคยคิด เพราะมัวประมาทอยู่ พระเจ้าข้า”

พญายมถามเขาว่า “เจ้าไม่ได้ทำความดีทางกาย วาจา และใจ เพราะมัวประมาทอยู่ เอาเถอะ เขาจะลงโทษเจ้าตามฐานะที่ประมาท ก็บาปกรรมนี้นั้น บิดามารดา พี่ชายน้องชาย พี่หญิง น้องหญิง มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิต เทวดา สมณพราหมณ์ ไม่ได้ทำให้เลย เจ้าทำเองแท้ ๆ เจ้านั่นเอง ต้องรับผลของบาปกรรม นั้น”


พญายม ครั้นสอบสวนซักไซ้ไล่เลียงเขา ถึงเทวทูตที่ ๑ แล้วจึงสอบสวน ซักไซ้ไล่เลียง ถึงเทวทูตที่ ๒ ว่า “เจ้าไม่เคยเห็นเทวทูตที่ ๒ ปรากฏในหมู่มนุษย์บ้างหรือ” เขาตอบว่า “ไม่เคยเห็น พระเจ้าข้า”

พญายมถามเขาว่า “ในหมู่มนุษย์ สตรีหรือบุรุษป่วย ประสพทุกข์ เป็นไข้หนัก นอนจมอยู่ในมูตรและกรีสของตน ผู้อื่นต้องช่วยพยุงให้ลุกขึ้น ช่วยป้อนอาหาร เจ้าไม่เคยเห็นบ้างหรือ” เขาตอบว่า “เคยเห็น พระเจ้าข้า”

พญายมถามเขาว่า “เจ้านั้นเป็นผู้รู้เดียงสา เป็นผู้ใหญ่ ไม่เคยคิดบ้างหรือว่า "ถึงตัวเราก็ต้องป่วยไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความป่วยไข้ไปได้ เอาเถอะ เราจะทำความดีทางกาย วาจา และใจ” เขาตอบว่า “ไม่เคยคิด เพราะมัวประมาทอยู่ พระเจ้าข้า”

พญายมถามเขาว่า “เจ้าไม่ได้ทำความดีทางกาย วาจา และใจ เพราะมัวประมาทอยู่ เอาเถอะ เขาจะลงโทษเจ้าตามฐานะที่ประมาท ก็บาปกรรมนั้น บิดามารดา พี่ชายน้องชาย พี่หญิงน้องหญิง มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิต เทวดา สมณพราหมณ์ไม่ได้ทำให้เลย เจ้าทำเองแท้ ๆ เจ้านั่นเอง ต้องรับผลของบาปกรรมนั้น”


พญายม ครั้นสอบสวนซักไซ้ไล่เลียงเขาถึง เทวทูตที่ ๒ แล้วจึงสอบสวน ซักไซ้ไล่เลียงถึงเทวทูตที่ ๓ ว่า “เจ้าไม่เคยเห็นเทวทูตที่ ๓ ที่ปรากฏในหมู่มนุษย์บ้างหรือ” เขาตอบว่า “ไม่เคยเห็น พระเจ้าข้า”

พญายมถามเขาว่า “ในหมู่มนุษย์ สตรีหรือบุรุษที่ตายได้ ๑ วัน ๒ วัน หรือ ๓ วัน พองขึ้น เป็นสีเขียว มีน้ำเหลืองแตกซ่าน เจ้าไม่เคยเห็นบ้างหรือ" เขาตอบว่า “เคยเห็น พระเจ้าข้า”

พญายมถามเขาว่า “เจ้าเป็นผู้รู้เดียงสา เป็นผู้ใหญ่ ไม่เคยคิดบ้างหรือว่า ถึงตัวเราก็มีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ เอาเถอะ เราจะทำความดีทางกาย วาจา และใจ” เขาตอบว่า “ไม่เคยคิด เพราะมัวประมาทอยู่ พระเจ้าข้า”

พญายมถามเขาว่า “เจ้าไม่ได้ทำความดีทางกาย วาจา และใจ เพราะมัวประมาทอยู่ เอาเถอะ เขาจะลงโทษเจ้าตามฐานะที่ประมาท ก็บาปกรรมนั้น บิดามารดา พี่ชายน้องชาย พี่หญิงน้องหญิง มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิต เทวดา สมณพราหมณ์ไม่ได้ทำให้เลย เจ้าทำเองแท้ ๆ เจ้านั่นเอง ต้องรับผลของบาปกรรมนั้น”

นายนิรยบาลจึงทำกรรมกรณ์ ชื่อเครื่องพันธนาการ ๕ อย่าง คือ ตอก ตะปูเหล็กแดง ที่มือ ๒ ข้าง ที่เท้า ๒ ข้าง และที่กลางอก เขาเสวยทุกขเวทนากล้าอย่างหนัก เผ็ดร้อน ณ ที่นั้น แต่ยังไม่ตายตราบเท่าที่บาปกรรมยังไม่สิ้นไป

นายนิรยบาลฉุดลากเขาไป เอาขวานถาก เขาเสวยทุกขเวทนากล้าอย่างหนัก เผ็ดร้อน ณ ที่นั้น แต่ยังไม่ตาย ตราบเท่าที่บาปกรรมยังไม่สิ้นไป

นายนิรยบาลจับเขา เอาเท้าขึ้น เอาศีรษะลง เอามีดเฉือน ฯลฯ จับเขาเทียมรถแล่นกลับไปกลับมา บนพื้นอันร้อนลุกเป็นเปลวโชติช่วง ฯลฯ บังคับเขาขึ้นลงภูเขาถ่านเพลิงลูกใหญ่ ที่ไฟลุกโชน ฯลฯ จับเขาเอาเท้าขึ้น เอาศีรษะลง ทุ่มลงในโลหกุมภี อันร้อนแดงลุกเป็นแสงไฟ เขาถูกต้มเดือดจนตัวพองในโลหกุมภีนั้น บางครั้งลอยขึ้น บางครั้งจมลง บางครั้งลอยขวาง เขาเสวยทุกขเวทนากล้าอย่างหนัก เผ็ดร้อนอยู่ ในโลหกุมภีอันร้อนแดงนั้น แต่ยังไม่ตาย ตราบเท่าที่บาปกรรมยังไม่สิ้นไป นายนิรยบาลจึงทุ่มเขาลงในมหานรก 

ก็มหานรกนั้นมี ๔ มุม ๔ ประตู แบ่งออกเป็นส่วน มีกำแพงเหล็กล้อมรอบ ครอบด้วยฝาเหล็ก มีพื้นเป็นเหล็กลุกโชนโชติช่วง แผ่ไปไกลด้านละ ๑๐๐ โยชน์ตั้งอยู่ทุกเมื่อ 

พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๐
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต หน้าที่ ๑๙๑-๑๙๔/๔๑๑ ข้อที่ ๓๗