วินัยมุข เล่ม ๑
กัณฑ์ที่ ๑
อุปสัมปทา
ตั้งแต่ครั้งโบราณกาลมาจนบัดนี้ มีคนจำพวกหนึ่ง พอใจจะชัก จูงคนให้ประพฤติธรรม
ด้วยเข้าใจว่าได้ยังประโยชน์ใหญ่ให้สำเร็จแก่ มหาชน ทำความเกิดของตนไม่ให้ไร้ผลเปล่า.
คนจำพวกนี้ที่อุกฤษฏ์ ได้ยอมสละโภคสมบัติยศศักดิ์ และความสุขส่วนตัวเสีย
ประพฤติเป็นนักบวชเที่ยวสั่งสอนมหาชน ชักจูงให้ประพฤติธรรมที่ตนนับถือว่า
เป็นดี มีคนนับถือมาก ได้รับความยกย่องเป็นศาสดา.
คำสอนที่พวก
คนเป็นอันมากนิยมนับถือสืบมา จัดว่าเป็นลัทธิหรือศาสนาอย่างหนึ่ง ๆ.
พระศาสดาของพวกเรา ก็เป็นพระองค์หนึ่งแห่งคนจำพวกนั้น.
พระองค์มีพระกรุณาใหญ่ในหมู่ชนฝังอยู่ในพระสันดาน แม้พระองค์ ประสูติในสกุลกษัตริย์
และเป็นรัชทายาท ผู้จะได้รับราชสมบัติสืบพระวงศ์ มีทางที่จะได้ทรงทำประโยชน์ให้แก่มหาชนผู้อยู่ใต้ปกครอง ถึงอย่างนั้น ก็ยังพอพระหฤทัยในทางเป็นผู้สั่งสอนมหาชนมากกว่าครอง แผ่นดิน ข้อนี้เป็นเหตุให้พระองค์ทรงผนวช. เป็นธรรมดาของท่านผู้บวชด้วยความประสงค์เช่นนั้น จงลงสันนิษฐานว่า จะเข้าพวกเป็นผู้ช่วยท่านผู้อื่นหรือจะทำเองตามลำพัง. ในชั้นแรก พระองค์น้อมพระหฤทัยไปในเข้าเป็นพวกช่วยท่านผู้อื่น และได้เสด็จเข้าไปอยู่ใน ๒ สำนัก แต่ไม่พอพระหฤทัยในลัทธิของ ๒ คณาจารย์นั้น ภายหลังจึงทรงพระดำริจะทำตามลำพัง.
เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เป็นธรรมดาอยู่เอง ที่จะต้องทรงเลือกทางและสันนิษฐานลงไปว่า จะสอนเขาในทางไหน ทรงค้นคว้าหาไป จึงได้พบความบริสุทธิ์ว่า เป็นมูลแห่งความดีทั้งปวง พระองค์ทรงตั้งอุตสาหะหากเพียร ทำพระองค์ให้บรรลุความบริสุทธิ์นั้นได้ก่อนแล้ว จึงเทศนาสั่งสอนผู้อื่นในทางนั้นต่อไป.
ในชั้นต้น ทรงแสดงแก่พวกนักบวชด้วยกันก่อน เมื่อมีผู้เชื่อถือ และทูลขอเข้าพวกด้วย ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุเหมือนกัน ด้วยพระวาจาว่า เป็นภิกษุมาเถิด เพียงเท่านี้ ก็เป็นอันทรงรับเข้าหมู่.
การบวชอย่างนี้ เรียกเอหิภิกขุอุปสัมปทา แปลว่า อุปสมบทด้วยทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุมา. เมื่อมีสาวกหลายรูป พระองค์ทรงส่งให้แยกกันไปประกาศพระศาสนาในถิ่นฐานบ้านเมืองนั้น ๆ ครั้งมีผู้เลื่อมใสสมัครจะบวช สาวกเหล่านั้นก็พาคนเหล่านั้นมาเฝ้าพระศาสดา เพื่อได้รับพระอนุญาตเป็นภิกษุ ตามธรรมเนียมที่เคยทรงมา.
พระศาสดาทรงพระดำริเห็นความลำบากของท่านผู้พา และคนผู้ตามมานั้น เพราะทางกันดาร ไปมาไม่สะดวก จึงทรงพระอนุญาตให้สาวกรับเข้าหมู่ได้เอง แต่เปลี่ยนวิธีรับเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่พระยักพะเยิดดังที่ทรงมา ให้ผู้จะบวชเข้าหมู่นั้น ปลงผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสายะ ถือเพสก่อนแล้ว เปล่งวาจาแสดงตนถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ด้วยอาการเคารพจริง ๆ เพียงเท่านี้ ชื่อว่าเป็นอันรับเข้าหมู่หรือบวชเป็นภิกษุได้เหมือนกัน.
การบวชอย่างนี้ เรียกว่าติสรณคมนุปสัมปทา แปลว่า อุปสมบทด้วยถึง ๓ สรณะ.
ในยุคต้นแห่งตรัสรู้ การรับเข้าหมู่หรือรับบวชให้ภิกษุ สำเร็จด้วยอำนาจบุคคล คือพระศาสดาทรง
เองบ้าง สาวกทำบ้าง ด้วยประการอย่างนี้.
จำเนียรกาลล่วงมา พระศาสนาเจริญแพร่หลายขึ้นโดยลำดับมีคนนับถือมาก พุทธบริษัทมีทั้งบรรพชิตทั้งคฤหัสถ์ ทั้งชายทั้งหญิงพระศาสดามีพระประสงค์จะทรงประดิษฐานให้เป็นหลักมั่นคง พระองค์ทรงมุ่งประโยชน์ของมหาชนยิ่งกว่าผลส่วนพระองค์เอง จึงได้ทรงอนุญาตมอบให้สงฆ์เป็นใหญ่ในการบริหารคณะ.
สงฆ์นั้นไม่ใช่ภิกษุเฉพาะรูปดังคนสามัญเข้าใจกันอยู่ ภิกษุหลายรูปเข้าประชุมกันเป็นหมู่เพื่อทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง เหมือนประชุมแห่งพวกสมาชิกของสมาคมนั้น ๆ ซึ่งมีอำนาจให้สำเร็จกิจธุระของเขา นี้เรียกว่าสงฆ์.
สงฆ์นั้นย่อมมีองค์เป็นกำหนดสำหรับกิจนั้น ๆ.
กิจโดยมาก ต้องการสงฆ์มีภิกษุ ๔ รูป สงฆ์ผู้ทำกิจเช่นนี้ เรียกว่าจตุวรรค แปลว่ามีพวก ๔. แต่กิจบางอย่าง ต้องการสงฆ์มีภิกษุ ๕ รูปบ้าง ๑๐ รูปบ้าง ๒๐ รูปบ้าง สงฆ์ผู้ทำกิจเหล่านั้น เรียกว่าปัญจวรรค มีพวก ๕ ทสวรรค มีพวก ๑๐ วีสติวรรค มีพวก ๒๐ เป็นลำดับกัน.
ตกมาถึงชั้นนี้ อุปสัมปทา คือรับบวชคนให้เป็นภิกษุเข้าหมู่ จึงเป็นหน้าที่ของสงฆ์จะพึงทำด้วยอย่างหนึ่ง พระศาสดาจึงทรงงดการประทานอุปสมบทด้วยพระองค์เสีย และทรงเลิกการให้อุปสมบทของสาวก
เสียด้วย ทรงอนุญาตให้สงฆ์ทำด้วยวิธีซึ่งเรียกว่า ญัตติจตุตถกัมม-อุปสัมปทา คือภิกษุประชุมครบองค์กำหนดในเขตแห่งชุมนุมซึ่งเรียกว่าสีมา กล่าววาจาประกาศเรื่องความที่จะรับคนนั้น ๆ เข้าหมู่ และ
ได้ความยินยอมของภิกษุทั้งปวงผู้เข้าประชุมเป็นสงฆ์นั้น.
องค์กำหนดของสงฆ์ผู้ให้อุปสมบทได้นั้น ในประเทศที่มีพระดื่น ซึ่งในครั้งนั้น ชี้เอามัธยมประเทศ ๑๐ รูป ในประเทศที่หาพระยาก ซึ่งชี้เอาปัจจันต-ชนบทเพียง ๕ รูปก็ได้.
อุปสมบทสำเร็จด้วยอำนาจสงฆ์อย่างนี้เป็นมา จนถึงกาลทุกวันนี้.
ภิกษุผู้ได้อุปสมบทด้วยวิธีซึ่งทรงเอง ที่เรียกว่าเอหิภิกขุอุปสัมปทาก็ดี ด้วยวิธีซึ่งสาวกทำ ที่เรียกว่าติสรณคมนุปสัมปทาก็ดี ด้วยวิธีซึ่งสงฆ์ทำ ที่เรียกว่าญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทาก็ดี ทั้ง ๓ เหล่านี้
มีสังวาส คือธรรมเป็นเครื่องอยู่ร่วมเป็นอันเดียวกัน เข้าเป็นพวกเดียวกันได้.
ครั้นทรงเลิกติสรณคมนุปสัมปทาเสียแล้ว ได้ทรงพระอนุญาตให้เอาวิธีนั้นมาใช้บวชกุลบุตร ผู้มีอายุยังหย่อน ไม่ครบกำหนดเป็น ภิกษุ ให้เป็นสามเณร ยังเสร็จด้วยอำนาจบุคคลคือสาวกหรือภิกษุ ผู้เถระนั่นเอง.
เมื่อเกิดมีสามเณรขึ้น การบวชจึงเป็น ๒ คือ บวชเป็นภิกษุ เรียกว่า อุปสัมปทาหรืออุปสมบท, บวชเป็นสามเณรเรียกว่า บรรพชา.
และวิธีที่สงฆ์จะให้อุปสมบท ก็ให้แก่ผู้ได้รับบรรพชาเป็นสามเณรมาแล้ว. นี้ใช้เป็นธรรมเนียมมาจนบัดนี้.
คราวนี้ จะอธิบายถึงธรรมเนียมให้อุปสมบทของสงฆ์.
ผู้จะอุปสมบทนั้น ต้องเป็นชาย มีอายุครบกำหนดเป็นบุรุษ คือไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปี นับแต่ปฏิสนธิมา หาได้เป็นมนุษย์วิบัติ คือถูกตอนเป็นต้นไม่ ไม่ใช่คนทำความผิดอย่างร้ายแรง เช่นฆ่าบิดามารดา และ
ไม่ใช่คนเคยทำความเสียหายในพระพุทธศาสนาอย่างร้ายแรง คือต้องปาราชิกเมื่อบวชเป็นภิกษุคราวก่อน หรือไปเข้ารีตเดียรถีย์ทั้งที่เป็นภิกษุ ถ้าเป็นคนมีโทษเห็นปานนั้นหรือเป็นสตรี อุปสมบทไม่ได้
เรียกว่าวัตถุวิบัติ หากสงฆ์จะขืนให้อุปสมบทหรือทำให้โดยไม่รู้ ก็ไม่เป็นภิกษุโดยถูกต้องแก่พระบัญญัติ รู้เข้าเมื่อใด จำจะต้องให้ออกเสียจากหมู่เมื่อนั้น คนพ้นจากโทษดังว่าแล้ว เรียกว่าวัตถุสมบัติ
ควรจะรับอุปสมบทได้.
แม้คนผู้ไม่ต้องห้ามเป็นเด็ดขาดเช่นนั้นแล้วก็ยังควรจะเลือกสรรอีก ควรจะเว้นคนเสียชื่อเสียง เช่นคนเป็นโจรหรือหัวไม้ขึ้นชื่อโด่งดัง คนทำความผิดถูกรับอาชญาแผ่นดิน มีเครื่องมายติดตัว เช่นถูกเฆี่ยนหลังลาย ถูกสักหมายความผิด คนมีอวัยวะพิการต่าง ๆ คนมีโรคไม่รู้จักหาย ซึ่งไม่สามารถจะทำ
หน้าที่ของภิกษุได้ คนมีโรคที่ติดกัน มีโรคเรื้อรัง คนอยู่ในหวงห้ามของผู้อื่น คือคนอยู่ในปกครองของมารดาบิดา คนอยู่ในราชการ คนเป็นทาสเป็นหนี้ของผู้อื่น แต่คนจำพวกหลังพ้นจากความหวงห้ามแล้ว เช่นบุตรได้อนุญาตของมารดาบิดา ข้าราชการได้อนุญาตของเจ้าหน้าที่ คนพ้นจากทาสจาหนี้แล้ว ให้อุปสมบทได้. ถึงมีห้ามไว้ก็จริง แต่ไม่ได้ห้ามเป็นเด็ดขาดเหมือนคนจำพวกก่อน ถ้าจับพลัดจับผลูเข้ามาบวช จัดว่าบวชแล้วก็แล้วไป ไม่จำต้องให้ออกเสียจากหมู่.
เมื่อสงฆ์จะให้อุปสมบท ต้องชุมนุมภิกษุให้ได้องค์กำหนด นี้เรียกว่าปริสสมบัติ ถ้าหย่อนไปกว่ากำหนด เรียกว่าปริสวิบัติ ให้อุปสมบทไม่สำเร็จ.
การนี้ต้องพร้อมเพรียงกันทำต่างว่าในตำบลหนึ่งมีภิกษุมากกว่าองค์กำหนด แต่ชุมนุมไม่พร้อมกัน
ไม่ได้รับฉันทะของผู้ไม่ได้เข้าชุมนุม สงฆ์ที่ชุมนุมนั้น แม้ครบองค์กำหนด ก็ยังให้อุปสมบทไม่สำเร็จ นี้เรียกว่าสีมาวิบัติ คือเสียเพราะเขตชุมนุม. เพราะเหตุนั้น สงฆ์แม้ครบองค์กำหนดแล้ว ต้อง
สันนิบาตในเขตชุมนุม ซึ่งเรียกว่าสีมา จึงจะให้อุปสมบทสำเร็จนี้เรียกว่าสีมาสมบัติ คือความพร้อมมูลแห่งสีมา.
อนึ่ง สงฆ์ผู้จะให้อุปสมบทนั้น ต้องตรวจตราผู้จะอุปสมบทให้เห็นว่าเป็นผู้สมควรก่อนแต่ข้อที่ยกขึ้นไล่เลียงนั้น เป็นแต่บางข้อ จะเป็นเพราะเลือกแต่ข้อที่ล่อแหลม หรือในชั้นต้นเพียงเท่านี้ ข้ออื่นเพิ่มมีในชั้นหลัง, ต้องให้ผู้นั้นหาภิกษุรับรองหรือชักนำเข้าหมู่รูปหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าอุปัชฌายะต้องเป็นผู้ใหญ่สามารถจะฝึกสอนเมื่อบวชแล้ว และต้องตรวจตราเครื่องบริขารที่จำเป็นของภิกษุ คือไตรจีวรกับบาตรให้มีพร้อมถ้าบกพร่อง เป็นหน้าที่ของอุปัชฌายะจะหาให้.
การซักไซ้ด้วยเรื่องเหล่านี้ สงฆ์สมมติให้ภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้ทำ.
และการอุปสมบทนี้ต้องให้แก่ผู้สมัครเท่านั้น เขาไม่สมัคร จะให้ขืนใจเขาไม่ได้ จึงมีเป็น
ธรรมเนียมผู้จะอุปสมบทต้องเปล่งคำขอ กรณียะเหล่านี้ เรียกว่าบุรพกิจ ควรจะทำให้เสร็จก่อนสวนประกาศ หากทำขาดไปบ้างถ้าไม่เป็นข้อวิบัติอย่างเด็ดขาด ก็ไม่ถึงกับเสียหาย แต่จัดว่าไม่ถูก
ธรรมเนียม. เมื่อพร้อมด้วยสมบัติดังกล่าวมาแล้ว จึงเป็นวาระที่จะสวดประกาศรับผู้นั้นเป็นภิกษุเข้าหมู่ เป็นหน้าที่ของภิกษุรูปหนึ่งผู้มีความรู้ความสามารถจะประกาศให้สงฆ์ฟัง.
วาจาประกาศนั้น ๔ เที่ยว เที่ยวแรกเป็นคำเผดียงสงฆ์ขอให้อุปสมบทคนชื่อนั้น เรียกว่าญัตติ
อีก ๓ เที่ยวเป็นคำหารือกันและกันของสงฆ์ ที่ตกลงว่ารับผู้นั้นเป็นภิกษุเข้าหมู่ เรียกว่าอนุสาวนา. ในระหว่างนี้ ถ้ามีภิกษุแม้รูปหนึ่งคัดค้านขึ้น การนั้นเป็นอันเสียใช้ไม่ได้ ถ้านิ่งอยู่ทุกรูป ถือเอาเป็น
ยอม.
ต่อนั้นมีคำประกาศซ้ำท้ายว่า สงฆ์รับผู้นั้นเป็นภิกษุเข้าหมู่เสร็จแล้ว ผู้ประกาศจำข้อความนี้ไว้. ในคำประกาศนั้น จำจะต้องออกชื่อผู้ขออุปสมบท ออกชื่ออุปัชฌายะผู้รับรอง หรือผู้นำเข้าหมู่
ออกชื่อสงฆ์ผู้เป็นเจ้าการ ขาดไม่ได้ และจะต้องประกาศให้ครบกำหนดและให้ถูกระเบียบ ไม่สับหน้าสับหลัง ดังนี้เรียกกรรมวาจาสมบัติ.
ตรงกันข้าม เรียกกรรมวาจาวิบัติ ใช้ไม่ได้. สงฆ์จะให้อุปสมบท
ต้องทำให้ได้พร้อมด้วยสมบัติ ๕ ประการดังนี้ จึงจะเป็นอันทำด้วยดี
ถูกระเบียบที่มีพระพุทธานุญาตไว้.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น