วันพุธที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

กัณฑ์ที่ ๖ นิสสัคคิยปาจิตตีย์

กัณฑ์ที่ ๖
นิสสัคคิยปาจิตตีย์

ศัพท์ว่า ปาจิตตีย์ นั้น ท่านแปลว่า การละเมิดอันยังกุศล
[คือความดี] ให้ตก ได้แก่อาบัติ บางทีจะแปลว่า วีติกกมะอันควร
ยำเกรงจะได้กระมัง เป็นได้ทั้งชื่ออาบัติ ทั้งชื่อสิกขาบท. ศัพท์ว่า
นิสสัคคีย์นั้น แปลว่าทำให้สละสิ่งของ คือสิ่งใดเป็นเหตุจึงต้องอาบัติ
ทำให้สละสิ่งนั้น แปลอย่างนี้ เป็นคุณบทแห่งปาจิตตีย์ ถ้าเป็นคุณ
บทแห่งสิ่งของ แปลว่าจำจะสละ. ๒ ศัพท์นั้นควบกับ แปลว่าวีติกกมะ
ชื่อว่าปาจิตตีย์ อันทำให้สละสิ่งของ. เป็นชื่อแห่งสิกขาบท แปลว่า
ปรับโทษชื่อนั้น.

สิกขาบทกัณฑ์นี้มี ๓๐ จัดเข้าเป็น ๓ วรรค ๆ ละ ๑๐. มาตรนี้
ใช้ทั้งในพระวินัย ทั้งในพระสูตร, ๑๐ สูตรจัดเข้าเป็นวรรคเหมือนกัน.

จีวรวรรคที่ ๑
สิกขาบทที่ ๑ ว่า จีวรสำเร็จแล้ว กฐินอันภิกษุเดาะเสียแล้ว
พึงทรงอติเรกจีวรได้ ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง. ภิกษุให้ล่วงกำหนดนั้นไป
เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.

เป็นธรรมเนียมของภิกษุ เมื่อถึงเดือนท้ายฤดูฝน เปลี่ยนผ้า
ไตรจีวรกันคราวหนึ่ง จึงเป็นฤดูที่ทายกถวายผ้า เรียกว่าจีวรทานสมัย
หรือจีวรกาล. ในสมัยนั้น ภิกษุผู้จำพรรษาตลอด ได้รับประโยชน์
เพื่อจะเก็บผ้าไว้ได้ตามต้องการ เพื่อจะได้ทำจีวร. ถ้าได้กรานกฐิน
ประโยชน์นั้นขยายออกไปอีกตลอดเหมันตฤดู. ภิกษุผู้ไม่ได้กรานกฐิน

ทำจีวรสำเร็จแล้ว หรือไม่ได้ทำเลย จนพ้นสมัยนั้นแล้ว ภิกษุผู้ได้
กรานกฐน เดาะกฐินเสียเอง คือทำการบางอย่างอันเป็นเหตุจะถือเอา
ประโยชน์แห่งการได้กรานกฐินอีกไม่ได้ เช่นไปเสียจากวัดด้วยไม่คิด
จะกลับมา หรือสิ้นเขตแห่งอานิสงส์กฐินแล้ว เช่นนี้ ภิกษุพึงทรง
อติเรกจีวรได้ ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง.
จีวรนั้นมีกำเนิด ๖ "โขมํ" ทำด้วยเปลือกไม้ เช่นผ้าลินิน ๑
"กปฺปาสิกํ" ทำด้วยฝ้าย คือผ้าสามัญ ๑ "โกเสยฺยํ" ทำด้วยไหม
คือแพร ๑ "กมฺพลํ" ทำด้วยขนสัตว์ [ยกผมขนมนุษย์] เช่น
สักหลาด ๑ "สาณํ" ทำด้วยเปลือกไม้สาณะ ซึ่งแปลกันว่าป่าน ๑
"ภงฺคํ" ทำด้วยสัมภาระเจือกัน เช่นผ้าด้วยแกมไหม ๑. ผ้ามีกำเนิด ๖
นี้ มีประมาณตั้งแต่ยาว ๘ นิ้ว กว้าง ๔ นิ้วขึ้นไป เข้าองค์กำหนด
แห่งผ้าต้องวิกัปเป็นอย่างต่ำ ชื่อว่าจีวร. จีวรนี้ มีพระพุทธานุญาต
ให้ภิกษุมีได้เป็นอย่าง ๆ และบางอย่างมีจำกัดจำนวน เช่นไตรจีวร
จีวรอย่างนี้ เรียกว่าอธิษฐาน. จีวรอันไม่ใช่ของอธิษฐานเช่นนี้
และไม่ใช่ของวิกัป คือเป็นกลางในระยะหว่าง ๒ เจ้าของ เรียกอติเรก-
จีวร.
กิริยาว่า "ทรง" นั้น แต่เดิมดูเหมือนจะหมายเอาครอง
หรือนุ่งห่ม ตั้งแต่มีอนุบัญญัติผ่อนให้ ๑๐ วันแล้ว หมายความตลอดถึง
มีได้เป็นสิทธิ์.
กำหนดนับเป็นวันล่วงนั้น เมื่ออรุณคือแสงเงินขึ้น. ภิกษุยัง
อติเรกจีวรนั้นให้ล่วง ๑๐ วัน ถึงอรุณที่ ๑๑ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.

อาบัตินี้ ต่อเมื่อภิกษุสละสิ่งของอันเป็นเหตุต้องแล้ว จึงแสดง
ได้. สละแก่สงฆ์ คือชุมนุมภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปก็ได้ สละแก่คณะ
คือชุมนุมภิกษุ ๓ รูป ๒ รูปก็ได้ สละแก่บุคคล คือภิกษุรูปเดียวก็ได้.
สละแก่บุคคลก็พอสำเร็จประโยชน์แล้ว ไฉนจึงกล่าวให้สละแก่สงฆ์แก่
คณะก็ได้ ยังแลไม่เห็นจำเป็นซึ่งแฝงอยู่อย่างไร. ด้วยเหตุนี้ ในทุก
วันนี้จึงไม่ได้ใช้. คำเสียสละแก่บุคคล ของอยู่ในหัตถบาส คือใกล้
ตัวว่าอย่างนี้ :- "อิทํ เม ภนฺเต จีวร ทสาหาติกฺกนฺตํ นิสฺสคฺคิยํ
อิมาหํ อายสฺมโต นิสฺสชฺชามิ." ถ้าแก่พรรษากว่าผู้รับ กล่าวว่า
"อาวุโส" แทน "ภนฺเต." พึงรู้อย่างนี้ในสิกขาบทต่อไป แปลว่า "จีวร
ผืนนี้ของข้าพเจ้าล่วง ๑๐ วัน จำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่
ท่าน." หลายผืนตั้งแต่ ๒ ขึ้นไป รวมสละคราวเดียวกันก็ได้ เปลี่ยน
คำเป็นพหุวจนะว่า "อิมานิ เม ภนฺเต จีวรานิ ทสาหาติกฺกนฺตานิ
นิสฺสคฺคิยานิ, อิมานาหํ อายสฺมโต นิสฺสชฺชามิ" แปลเหมือนกัน
เป็นแต่บ่งว่ากว่าผืน ๑ เท่านั้น. สละของอยู่นอกหัตถบาส คือห่างตัว
ก็ได้ ว่า "เอตํ" แทน "อิทํ" ว่า "เอตาหํ" แทน "อิมาหํ"
ว่า "เอตานิ" แทน "อิมานิ" ว่า "เอตานาหํ" แทน "อิมา-
นาหํ." เมื่อสละนั้น พึงตั้งใจสละให้ขาด. ครั้นสละแล้วจึงแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้รับเสียสละนั้น หากจะถือเอาเสียทีเดียว เจ้าของเดิมก็ไม่มีกรรม-
สิทธิ์ที่จะเรียกคืนได้ แต่เป็นธรรมเนียมอันดีของเธอ เมื่อรับแล้ว
คือให้เจ้าของเดิม ไม่ทำอย่างนั้นต้องทุกกฏ. คำคืนให้ว่าดังนี้ :- "อิมํ
จีวรํ อายสฺมโต ทมฺมิ" แปลว่า "ข้าพเจ้าให้จีวรผืนนี้แก่ท่าน." หลาย

ผืน หรืออยู่นอกหัตถบาส พึงเปลี่ยนโดยนัยนี้, จีวรเป็นนิสสัคคีย์ ยัง
ไม่ได้สละ บริโภคต้องทุกกฏ. สละแล้วได้คืนมา บริโภคได้.
ในสิกขาบทนี้ ไม่มีคำบ่งถึงเจตนา ท่านจึงกล่าวว่า อาบัติเป็น
อจิตตกะ แม้เผลอปล่อยให้ล่วง ๑๐ วันไป ก็เป็นอาบัติ. อธิษฐานไว้
วิกัปไว้ หรือของนั้นสูญเสีย หายเสีย พ้นไปจากความเป็นสิทธิ์ของ
ภิกษุภายใน ๑๐ วัน ไม่เป็นอาบัติ. เพราะเหตุนั้น ในตอนหลัง เมื่อ
มีความจำเป็นจะทรงผ่องปรนด้วยเรื่องอติเรกจีวรอีก จึงทรงอนุญาต
ไว้แผนกหนึ่ง ให้วิกัปอติเรกจีวร คือทำให้เป็น ๒ เจ้าของ ซึ่งใช้
กันอยู่ในทุกวันนี้. เรื่องวิกัปนี้ จักกล่าวในส่วนอื่น.
อนึ่ง ในที่นี้ ขอแสดงมติของข้าพเจ้าไว้ เพื่อเป็นทางสำหรับ
นักวินัยจะได้ดำริ. สิกขาบทนี้ ทรงพระปรารภจีวรที่นุ่งห่มได้ แต่มี
ที่มาแห่งอื่นว่า ผ้าขาว ๘ นิ้ว กว้าง ๔ นิ้ว เพียงเท่านี้ก็จัดว่า เป็น
จีวรต้องวิกัปเป็นอย่างต่ำ จึงต้องยอมว่า แม้ผ้าผืนเล็กเพียงเท่านั้น
พอใช้เป็นเครื่องประกอบเข้าเป็นผ้านุ่งห่มได้ ก็นับว่าจีวรในสิกขาบทนี้.
ส่วนผ้าสีต่าง ๆ ซึ่งใช้นุ่งห่มได้ และไม่อาจสำรอกสีออก นับว่า
เป็นอติเรกจีวรด้วยนั้น เข้าใจเกินไปกระมัง ข้าพเจ้าปรารถนาจะเข้าใจ
ว่า ไม่ใช่อติเรกจีวร.แม้มีภาษิตว่า ในวินัยตั้งอยู่ข้างหนักไว้ดีกว่า
ก็ยังเห็นว่า ถือเกินกว่าพอดี. ข้อนี้พึงรู้ได้ในเมื่อวิกัปของเช่นนั้น
ลองนึกสักหน่อย คงรู้สึกเขินใจ.
สิกขาบทที่ ๒ ว่า จีวรสำเร็จแล้ว กฐินอันภิกษุเดาะเสียแล้ว
ถ้าภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวรแม้สิ้นราตรีหนึ่ง เว้นเสียแต่ภิกษุได้รับ

สมมติ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
ไตรจีวรนั้น คือ อันตรวาสก ผ้านุ่ง ๑ อุตตราสงค์ ผ้าห่ม ๑
สังฆาฏิ ผ้าคลุม ๑ เป็นของอันพระศาสดาทรงพระอนุญาตสำหรับ
ภิกษุ. ไตรจีวรนี้ ในบางสมัย เช่นในฤดูร้อน คงเป็นของที่เกินต้อง
การไปตัวหนึ่ง กล่าวคือสังฆาฏิ ภิกษุทั้งหลายจึงพอใจมีแต่อันตรวาสก
กับอุตตราสงค์เท่านั้นไปข้างไหน ๆ แต่คราวต้องการใช้ครบไตรจีวร
ย่อมมี เช่นในฤดูหนาว จำนวนจึงควรกำหนดไว้ข้างสูง พระศาสดา
มีพระพุทธประสงค์จะให้มีไว้ครบจำนวน จึงทรงบัญญัติสิกขาบทนี้
แม้อย่างนั้น ยังทรงรับรองความสะดวกด้วยจีวรเพียง ๒ ผืน ในกาล
บางคราวในที่บางแห่งของภิกษุบางรูป จึงได้ทรงพระอนุญาตให้อยู่
ปราศจากไตรจีวรได้ในบางคราว เช่นจำพรรษาครบไตรมาสแล้ว หรือ
ได้กรานกฐินแล้ว อยู่ปราศจากไตรจีวรได้ชั่วกำหนดกาล และทรง
พระอนุญาตให้สมมติ ดิจีวรอวิปปวาสลงในสมานสังวาสสีมา สำหรับ
เป็นที่ไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร คืออยู่ในเขตนั้น แม้มีไตรจีวรอยู่กับตัว
ไม่ครบ ชื่อว่าไม่เป็นอันอยู่ปราศจากไตรจีวร และทรงพระอนุญาต
เพื่อสงฆ์ให้สมมติแก่ภิกษุผู้อาพาธ ให้อยู่ปราศจากไตรจีวรได้. ในกาล
และในที่นอกทรงพระอนุญาต ภิกษุผู้ไม่ได้รับสมมติต้องมีอยู่กับตัวครบ
ไตรจีวร ถ้าทอดทิ้งไว้ที่อื่นผืนใดผืนหนึ่ง เป็นต้นว่าสังฆาฎิ แม้เพียง
ล่วงราตรีหนึ่ง ถึงเวลาอรุณขึ้น เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
ฟังเพียงเท่านี้ ดูเหมือนจะเข้าใจพระพุทธาธิบาย ในอันทรง
บัญญัติสิกขาบทนี้ และพอปฏิบัติให้สมได้. ครั้นเมื่อเริ่มปัญหาขึ้นว่า

จีวรอยู่ในเขตเพียงไร ชื่อว่าไม่อยู่ปราศ คืออยู่กับตัว. คราวนี้จะต้อง
พิจารณาถึงเขต. เขตนั้น ท่านไม่ได้หมายเอาการของภิกษุ ดังความ
เข้าใจกันมาว่า พอจวนเวลาอรุณขึ้น ต้องครองผ้าครบไตรจีวร ท่าน
หมายเอาจังหวัดที่อยู่ของภิกษุ. อยู่ในภายในสีมาซึ่งได้สมมติติจีวรอวิป-
ปวาส ไม่เป็นอันอยู่ปราศ และวัดในครั้งนั้น น่าจะอยู่ในเขตนี้แทบ
ทั้งนั้นกระมัง ในคัมภีร์วิภังค์ จึงแก้เขตเป็นของบ้านทั้งนั้น ไม่ได้
กล่าวถึงถิ่นของภิกษุเลย. เขตที่กล่าวไว้ในคัมภีร์วิภังค์นั้น ย่นแสดง
ดังนี้ :-
ของสกุลเดียวก็มี ของต่างสกุลก็มี ของสกุลเดียว :-
บ้านมีเครื่องล้อม กำหนดเอาเครื่องล้อมเป็นเขต ไม่มีเครื่อง
ล้อม กำหนดเรือนที่ไว้ผ้า.
เรือนโรงมีเครื่องล้อม กำหนดเอาเครื่องล้อมเป็นเขต ไม่มี
เครื่องล้อม กำหนดเอาห้องที่ไว้ผ้า. เรือก็เหมือนกัน.
นา ลานนวดข้าว สวน มีเครื่องล้อม กำหนดเอาเครื่องล้อม
เป็นเขต ไม่มีเครื่องล้อม กำหนดเอาหัตถบาสแห่งตัวกับผ้าศอก ๑
ในระหว่าง.
โคนต้นไม้ กำหนดเอาแดนที่เงาแผ่ในเวลาเที่ยง.
เอาจีวรไว้ในเขต อยู่ในเขต หรือไม่ละหัตถบาสแห่งเขตนั้น
เป็นอันไม่อยู่ปราศ.
ถ้าสถานเหล่านั้นเป็นของต่างสกุล เอาผ้าไว้ในสำนักแห่งสกุลใด
กำหนดเอาสำนักของสกุลนั้นเป็นเขต หรือกำหนดเอาที่ทางอันใช้ร่วม

กันก็ได้ ถ้ากำหนดเอาความมีสิทธิ์ต่างออกไปไม่ได้ กำหนดเอา
หัตถบาสแห่งตน.
ป่าหาบ้านมิได้ กำหนดเอา ๗ อัพภันดรโดยรอบ เป็นเขต.
อันภันดรหนึ่ง ๒๘ ศอก หรือ ๗ วา.
ส่วนสัตถะ คือหมู่เกวียนหรือหมู่ต่างนั้น ของสกุลเดียว ท่าน
ให้กำหนดเขตข้างหน้าข้างหลัง ด้านละ ๗ อัพภันดร ด้านข้างทั้ง ๒
ด้านละ ๑ อัพภันดร. ข้อนี้ ข้าพเจ้าไม่เข้าใจ. จะถือว่า เป็นอุปจาร
บ้านเรือนไม่มีเครื่องล้อม ควรจะกำหนดเขตด้วยเลฑฑุบาต คือชั่ว
ขว้างก้อนดินตก ตามวิธีกำหนดอุปจารบ้านและอุปจารเรือนในที่อื่น
ในที่นี้หาได้กำหนดเช่นนั้นไม่ เหตุไฉนสัตถะอันไม่ตั้งอยู่ที่ จะได้เขต
มากกว่าบ้านเรือนไปอีก. ส่วนของต่างสกุล ท่านให้กำหนดเอาหัตถบาส
แห่งหมู่เกวียน น่าจะเห็นว่า ของสกุลเดียว ควรกำหนดเช่นนี้ ของ
ต่างสกุล เอาผ้าไว้ในเกวียนของสกุลใด ควรกำหนดเอาหัตถบาส
แห่งเกวียนของสกุลนั้น.
เขตเหล่านี้ กำหนดไว้สำหรับภิกษุเดินทางเข้าอาศัยเขาอยู่ หรือ
กล่าวตามธรรมเนียมเดิม ครั้งภิกษุยังอยู่ไม่เป็นที่ก็อาจเป็นได้ ข้าพเจ้า
ไม่เข้าใจมติของพระคันถรจนาจารย์ในข้อนี้.
ในบัดนี้ ภิกษุอยู่ ณ วัดในคามเขตอันไม่ได้สมมติติจีวรอวิปปวาส
ทั้งใช้อติเรกจีวร หรือวิกัปปิตจีวรฟูมฟายล่อแหลมต่ออาบัตินี้มากเข้า
จะพึงกำหนดเขตอย่างไร ? กำหนดอนุโลม โดยนัยอันท่านกล่าวไว้
ดังนี้ :-

กุฎมีบริเวณ ภิกษุครอบครองเป็นเจ้าของผู้เดียว กำหนดเอา
เครื่องล้อมเป็นเขต. ไม่มีบริเวณ กำหนดเอากุฎี.
กุฎีมีบริเวณ เป็นที่อยู่แห่งภิกษุมากรูป กำหนดเอากุฎีที่ไว้ผ้า.
ไม่มีบริเวณ กำหนดเอาห้องที่ไว้ผ้า.
ศาลาและอื่น ๆ อันเป็นสาธารณสถาน พึงกำหนดในเวลาใช้
รูปเดียวหรือหลายรูป.
โคนไม้และที่แจ้ง มีเครื่องล้อม กำหนดเอาเครื่องล้อม ไม่มี
เครื่องล้อม โคนไม้ กำหนดเอาแดนที่เงาแผ่ในเวลาเที่ยง ที่แจ้ง
กำหนดด้วยหัตถบาสในระหว่างตนกับผ้า.
กล่าวสั้น เอาผ้าสังฆาฏิเก็บไว้ในที่เช่นใด มีแต่อันตรวาสก
กับอุตตราสงค์เท่านั้น เข้าบ้านได้ตามพระพุทธานุญาต พึงกำหนดเอา
ที่เช่นนั้นเป็นเขต.
จีวรเป็นนิสสัคคีย์ เพราะอยู่ปราศจากเขตล่วงราตรีนั้น พึงพละ
แก่สงฆ์ก็ได้ แก่คณะก็ได้ แก่บุคคลก็ได้. คำเสียสละแก่บุคคลว่า
ดังนี้ :- "อิทํ เม ภนฺเต จีวรํ รตฺติวิปฺปวุตฺถํ อญฺตฺร ภิกฺขุสมฺมติยา
นิสฺสคฺคิยํ, อิมาหํ อายสฺมโต นิสฺสชฺชามิ." แปลว่า "จีวรผืนนี้
ของข้าพเจ้า อยู่ปราศแล้วล่วงราตรี เป็นของจำจะสละ ยกไว้แต่
ภิกษุได้สมมติ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน." ถ้า ๒ ผืนว่า "ทฺวิจีวรํ"
ถ้าทั้ง ๓ ผืนว่า "ติจีวรํ" คำคือผ้าให้เหมือนสิกขาบทก่อน.
จีวรเป็นนิสสัคคีย์ ยังไม่ได้สละ บริโภคต้องทุกกฏ. สละแล้ว
ได้คืนมา ยังปรารถนาอยู่ พึงอธิษฐานเป็นไตรจีวรใหม่.

สิกขาบทนี้ เป็นอจิตตกะ แม้ไม่ตั้งใจ แต่อยู่ปราศแล้วก็เป็น
อาบัติ. อยู่ปราศไม่ถึงคืนหนึ่ง ปัจจุทธรณ์เสีย หรือของนั้นสูญเสีย
หายเสีย พ้นไปจากกรรมสิทธิ์ของภิกษุ แต่อรุณยังไม่ทันขึ้น ไม่เป็น
อาบัติ.
สิกขาบทที่ ๓ ว่า จีวรสำเร็จแล้ว กฐินอันภิกษุเดาะเสียแล้ว
อกาลจีวรเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ภิกษุหวังอยู่ก็พึงรับ ครั้นรับแล้วพึงรีบให้ทำ
ถ้าผ้านั้นมีไม่พอ เมื่อความหวังว่าจะได้มีอยู่ ภิกษุนั้นพึงเก็บจีวรนั้นไว้
ได้เดือนหนึ่งเป็นอย่างยิ่ง เพื่อจีวรที่ยังบกพร่องอยู่จะได้พอกัน ถ้าเธอ
เก็บไว้ให้ยิ่งกว่ากำหนดนั้น แม้ความหวังว่าจะได้มีอยู่ ก็เป็นนิสสัคคิย-
ปาจิตตีย์.
จีวรอันเกิดขึ้นนอกเขตจีวรกาล นอกเขตอานิสงส์กฐิน เรียกว่า
อากาลจีวร. อกาลจีวรนี้ ก็อติเรกจีวรนั่นเอง แต่ถ้าภิกษุต้งอการจะทำ
ไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งใช้สอยยังไม่พอ เมื่อความหวังว่าจะได้จีวรมาอีก
แต่ที่ไหน ๆ ก็ตามมีอยู่ เก็บผ้าอกาลจีวรนั้นไว้ได้เดือนหนึ่งเป็นอย่าง
นาน. ถ้าไม่ต้องการจะทำ หรือไม่มีที่หวังข้างหน้า เช่นนี้ อายุผ้า
นั้นเพียง ๑๐ วัน หรือมีที่หวังอยู่ แต่นานกว่าเดือนหนึ่งจึงจะได้ เช่นนี้
ก็เก็บไว้กว่า ๑๐ วันไม่ได้. เก็บอกาลจีวรไว้แล้ว ได้จีวรใหม่มาเติม
พอจะทำได้แล้ว จะพึงมีเวลาทำได้กี่วัน พึงกำหนดด้วยอายุแห่งผ้าที่
เก็บไว้เดิม และอายุแห่งผ้าที่ได้มาใหม่ ข้างในอายุน้อย พึงรีบทำให้ทัน
อายุของข้างนั้น. ตัวอย่าง เช่นเก็บผ้าไว้ได้ ๑๐ วันแล้ว จึงได้ผ้าใหม่
มา อย่างนี้ ต้องทำตามอายุของผ้าใหม่คือ ๑๐ วัน ถ้าเก็บไว้ได้ ๒๒


วันแล้ว จึงได้ผ้าใหม่มา อย่างนี้ต้องทำตามอายุของผ้าเก่า คือ ๘ วัน
ถ้าเก็บมาได้เกิน ๑๐ วัน แต่ยังไม่ครบเดือนหนึ่ง จึงได้ผ้าใหม่มา
เนื้อผิดกันมาก จะได้ทำก็ได้ หรือได้ผ้าใหม่มาเมื่อจวนสิ้นกำหนด ทำ
ไม่ทัน พึงอธิษฐานเป็นบริขารอย่างอื่นใช้ พึงวิกัปไว้ หรือพึงให้
แก่คนอื่นเสีย ในวันที่ตกลงว่าจะไม่ทำ. ผ้าล่วงกำหนดกาลนั้นเป็น
นิสสัคคีย์ พึงเสียสละแก่สงฆ์ แก่คณะ แก่บุคคลก็ได้. คำเสียสละแก่
บุคคลว่าดังนี้ :- "อิทํ เม ภนฺเต อกาลจีวรํ มาสาติกฺกนิตํ นิสฺสคฺคิยํ
อิมาหํ อายสฺมโต นิสฺสชฺชามิ." แปลว่า "อกาลจีวรผืนนี้ของ
ข้าพเจ้า ล่วงเดือนหนึ่ง จำจะสะ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน."
ไม่สละ จีวรเป็นนิสสัคคีย์ บริโภคเป็นทุกกฎ.
อธิบายนอกจากนี้ พึงรู้โดยนัยอันกล่าวแล้วในสิกขาบทที่ ๑.

สิกขาบทที่ ๔ ว่า อนึ่ง ภิกษุใด ยังภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ให้ซัก
ก็ดี ให้ย้อมก็ดี ซึ่งจีวรเก่า เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
จีวรเก่านั้น ได้แก่จีวรที่ใช้แล้ว นุ่งแล้วก็ดี ห่มแล้วก็ดี แม้
คราวเดียว. ในคัมภีร์วิภังค์ กล่าวการใช้ให้ซัก ให้ย้อม หรือให้ทุบ
เฉพาะอย่าง ๆ เป็นประโยคแห่งนิสสัคคีย์ ใช้ให้ทำการเช่นนั้น ๒
อย่าง หรือแม้ทั้ง ๓ อย่างรวมกัน การทำอย่างแรก เป็นประโยคแห่ง
นิสสัคคีย์ การทำอย่างหลังละอย่าง ๆ เป็นประโยคแห่งทุกกฎ ใช้ให้
ซักผ้าปูนั่ง ผู้ปูนอน เป็นอาบัติทุกกฏ.
เพราะคำในสิกขาบทมีจำกัดว่า ใช้ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ใช้ภิกษุณี
ผู้เป็นญาติให้ทำ ไม่เป็นอาบัติ. เพราะคำว่าใช้ ถ้าไม่ได้ใช้ ภิกษุณี

ผู้ไม่ใช่ญาติเอาไปทำเอง หือช่วยภิกษุณีผู้เป็นญาติ ชื่อว่าไม่ได้ใช้
ไม่เป็นอาบัติ. เพราะคำว่า จีวรเก่า ใช้ให้ซักจีวรที่ยังไม่ได้บริโภค
ไม่เป็นอาบัติ . เพราะคำว่าจีวร ใช้ให้ซักบริขารอื่น ซึ่งไม่นับว่าจีวร
ไม่เป็นอาบัติ.
สิกขาบทนี้ ไม่ทำให้เกิดผลอย่างไรแล้วในบัดนี้ ถึงอย่างนั้น
อธิบายไว้มากหน่อย เพื่อผู้ศึกษาจะได้รู้จักสังเกตถ้อยคำอันบ่งให้ถือเอา
ความอย่างไร. อนึ่ง ความมุ่งหมายของสิกขาบทนี้ เพื่อจะป้องกัน
ความน่าเกลียด ใช้ผู้หญิงชาวบ้านให้ทำ ปรับนิสสัคคีย์ไม่ได้ดอก แต่
ไม่พ้นน่าเกลียด ภิกษุผู้หวังปฏิบัติชอบ ควรเว้นแต่การใช้เช่นนั้นเสีย.
สิกขาบทที่ ๕ ว่า อนึ่ง ภิกษุใด รับจีวรจากมือภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ
เว้นไว้แต่ของแลกเปลี่ยน เป็นนิสสัคคิย์ปาจิตตีย์.
ข้อที่เว้นของแลกเปลี่ยนนั้น ให้สำเร็จสันนิษฐานว่า สิกขาบทนี้
ทรงตั้งไว้ เพื่อจะกันไม่ให้ภิกษุรับของแห่งภิกษุณีมีลาภน้อยข้างเดียว
ถ้าสมควรจะรับ ก็ต้องให้ของแลกเปลี่ยน. และของแลกเปลี่ยนนั้น
ท่านว่าจะยิ่งหรือหย่อนก็ได้ แต่ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ควรจะเป็นของพอ
สม่ำเสมอกัน.
อาบัติในสิกขาบทนี้ ต้องทำเพราะทำ ทั้งเพราะไม่ทำ คือรับจีวร
แต่ไม่ทำการแลกเปลี่ยน.
สิกขาบทที่ ๖ ว่า อนึ่ง ภิกษุใด ขอจีวรต่อพ่อเจ้าเรือนก็ดี ต่อ
แม้เจ้าเรือนก็ดี ผู้มิใช่ญาติ นอกจากสมัย เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์
นี้สมัยในคำนั้น ภิกษุเป็นผู้มีจีวรถูกชิงเอาไปก็ดี มีจีวรฉิบหายก็ดี นี้

สมัยในคำนั้น.
คำว่า มิใช่ญาตินั้น คือไม่ใช่คนเนื่องถึงกัน ทางมารดาก็ดี
ทางบิดาก็ดี ตลอด ๗ ชั่วบุรพชนก. เหตุไฉนท่านจึงนับญาติ ๗ ชั่ว.
ข้าพเจ้าเข้าใจว่า กำหนดเอาที่อาจจะเห็นกันได้ คนผู้จะเห็นบุรพชนก
ของตน ชั้นสูงสุดก็เพียงทวด. อาจจะเห็นอนุบุตรของตน ชั้นต่ำก็
เพียงเหลน, นบชั้นตนเป็น ๑ ข้างบน ๓ ข้างล้าง ๓ รวมเป็น ๗.

คนเราจะพบญาติก็คงใน ๗ ชั้นนี้เอง ยังไม่เคยมีล้ำสูงขึ้นไปหรือล้ำต่ำ
ลงมา หากมีขึ้น ยังนับว่าญาติได้อยู่นั่นเอง. เขยและสะใภ้ ท่าน
ไม่นับว่าเป็นญาติ. สมัยที่จะขอจีวรต่อคฤหัสถ์ผู้มิใช้ญาติได้นั้น คือภิกษุ
มีจีวรถูกชิง ถูกลักหรือหายเสีย มีจีวรฉิบหายเป็นอันตราย ใช้ไม่ได้
ต่อไป. ไม่มีสมัยเช่นนี้ ภิกษุขอจีวรต่อคฤหัสถ์ชารหญิงผู้มิใช้ญาติ เว้น
ไว้แต่คนปวารณา ซึ่งทรงอนุญาตในสิกขาบทอื่น เป็นทุกกฏในประโยค
ที่ขอ เป็นนิสสัคคีย์ด้วยได้ผ้ามา. คำเสียสละแก่บุคคลว่าดังนี้ :- "อิทํ
เม ภนฺเต จีวรํ อญฺาตกํ คหปติกํ อญฺตฺร สมยา วิฺาปิตํ นิสฺสคฺคิยํ,
แล้วต่อเจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ นอกจากสมัย เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้า
สละจีวรผืนนี้แก่ท่าน.
อาบัตินี้เป็นอจิตตกะ เพราะเหตุนั้น ถ้าเขามิใช่ญาติ รู้อยู่
ก็ตาม แคลงอยู่ก็ตาม สำคัญว่าเป็นญาติก็ตาม ขอในมิใช่สมัย เป็น
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ทั้งนั้น เรียกสั้นว่า ติกปาจิตตีย์. เขาเป็นญาติ
สำคัญว่าไม่ใช่หรือแคลงอยู่ ขอเป็นทุกกฏ. เขาเป็นญาติ รู้อยู่ว่า

เป็นญาติ ขอไม่เป็นอาบัติ. เพราะคำในสิกขาบทว่า มิใช่ญาติ จึง
ขอต่อญาติได้. เพราะคำว่า นอกจากสมัย จึงขอได้ในสมัย, เพราะ
มีอนุญาตในสิกขาบทอื่น จึงขอต่อผู้ปวารณาได้. ในคัมภีร์วิภังค์ว่า
ขอเพื่อผู้อื่น และได้มาด้วยทรัพย์ของตน ไม่เป็นอาบัติ. ขอเพื่อผู้อื่น
นั้น พึงเห็นเช่นขอเพื่อภิกษุผู้มีผ้าหาย. จ่ายมาด้วยทรัพย์ของตนนั้น
ไม่ใช่ขอ ต้องไม่เป็นอาบัติอยู่เอง.
สิกขาบทที่ ๗ ว่า พ่อเจ้าเรือนก็ดี แม้เจ้าเรือนก็ดี ผู้มิใช่ญาติ
ปวารณาต่อภิกษุด้วยจีวรเป็นอันมาก เพื่อนำไปได้ตามใจ ภิกษุนั้น
พึงยินดีจีวรมีอุตตราสงค์กับอันตรวาสกเป็นอย่างมาก จากจีวรเหล่านั้น
ถ้ายินดียิ่งกว่านั้น เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
ข้อว่า พึงยินดีเพียงอุตตราสงค์กับอันตรวาสกเป็นอย่างมากนั้น
ในคัมภีร์วิภังค์แสดงว่า ผ้าหาย ๓ ผืน พึงยินดี ๒ ผืน, ผ้าหาย ๒ ผืน
พึงยินดีผืนเดียว. หายเพียงผืนเดียว อย่ายินดีเลย. คำว่า ยินดี ในที่นี้
หมายความว่า รับหรือถือเอาด้วยความพอใจ. ในประโยคที่ยินดีเกิน
กำหนด เป็นทุกกฏ ได้ผ้ามาเป็นนิสสัคคีย์. คำเสียสละแก่บุคคล
ว่าดังนี้ :- "อิทํ เม ภนฺเต จีวรํ อญฺาตกํ คหปติกํ ตทุกฺตรึ
วิญฺาปิตํ นิสฺสคฺคิยํ, อิมาหํ อายสฺมโต นิสฺสชฺชามิ." แปลว่า
"จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า ขอแล้วเกินกำหนด ต่อเจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ
จำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน."
อธิบายนอกจากนี้ เหมือนในสิกขาบทก่อน มีแปลกแต่ใน
ส่วนอนาบัติ.

ในคัมภีร์วิภังค์แสดงว่า นำไปมากด้วยคิดว่า เหลือจะเอามาคืน
เจ้าของเขาบอกถวายส่วนที่เหลือ เขาไม่ได้ถวายเพราะเหตุผ้าถูกชิง
หรือผ้าหาย รับมากกว่ากำหนด ไม่เป็นอาบัติ. สิกขาบทนี้ ทรง
บัญญัติเพื่อให้รู้จักประมาณ รับมากเป็นไม่รู้จักประมาณ รับเข้ามีโทษ
ไม่รับเป็นการเสียศรัทธาของเขา ไม่รับเป็นความเสีย. พระคันถรจนา-
จารย์เพ่งความข้อหลังนี้ จึงกล่าวอนาบัติไว้ดังนั้น. ข้อนี้ควรถือเป็น
ตัวอย่าง ประพฤติให้พอดีในการรับ อย่าให้เป็นโลภจนเขาเบื่อ อย่า
ให้เป็นการอวดมักน้อย จนเขาเสียใจ.
สิกขาบทที่ ๘ ว่า อนึ่ง มีพ่อเจ้าเรือนก็ดี แม่เจ้าเรือนก็ดี ผู้มีใช่
ญาติ ตระเตรียมทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรเฉพาะภิกษุไว้ว่า เราจักจ่ายจีวร
ด้วยทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรนี้แล้ว ยังภิกษุชื่อนี้ให้ครองจีวร ถ้าภิกษุนั้น
เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหาแล้ว ถึงการกำหนดในจีวรใน
สำนักของเขาว่า ดีละ ท่านจงจ่ายจีวรเช่นนั้นเช่นนี้ ด้วยทรัพย์สำหรับ
จ่ายจีวรแล้ว ยังรูปให้ครองเถิด เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ถือเอาความ
เป็นผู้ใคร่จีวรดี.
คนผู้มิได้ปวารณานั้น คือคนมิได้เป็นญาติ และมิได้สั่งไว้ให้
บอกให้ขอในคราวที่ต้องการ. ข้อนี้จักแก้ข้างหน้าในสิกขาบทที่ว่าถึง
เรื่องปวารณา. ภิกษุรู้ว่า เขาจะจ่ายจีวรถวาย เขามิใช่ญาติ มิใช่คน
ปวารณา. เข้าไปสั่งให้เขาจ่ายจีวรที่ดีกว่าแพงกว่า เขาจ่ายตามคำ
เป็นทุกกฏ. ในประโยคที่ได้มาเป็นนิสสัคคีย์. คำเสียสละแก่บุคคลว่า
ดังนี่ :- "อิทํ เม ภนฺเต จีวรํ ปุพฺเพ อปฺปวาริเตน อญฺาตกํ

คหปติกํ อุปสงฺกมิตฺวา จีวเร วิกปฺปํ อาปนฺนํ นิสฺสคฺคิยํ, อิมาหํ
อายสฺมโต. นิสฺสชฺชามิ." แปลว่า "จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า เขาไม่ได้
ปวารณาไว้ก่อน ข้าพเจ้าเข้าไปหาเจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ถึงการกำหนด
ในจีวร จำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน."
เพราะคำว่า ถือเอาความใคร่ในจีวรดีกว่า ในคัมภีร์วิภังค์
ท่านจึงกล่าวว่า เขาปรารถนาจะจ่ายจีวรมีราคามาก สั่งให้จ่ายจีวร
มีราคาน้อย ไม่เป็นอาบัติ.
อธิบายนอกจากนี้ เหมือนในสิกขาบทที่ ๖ อันว่าด้วยเรื่อง
ขอจีวร.
สิกขาบทที่ ๙ ว่า อนึ่ง มีพ่อเจ้าเรือนก็ดี แม้เจ้าเรือนก็ดี ผู้
มิใช่ญาติ ๒ คน ตระเตรียมทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรเฉพาะผืน ๆ ไว้
เฉพาะภิกษุว่า เราทั้งหลายจักจ่ายจีวรเฉพาะผืน ๆ ด้วยทรัพย์สำหรับ
จ่ายจีวรเฉพาะผืน ๆ นี้แล้ว ยังภิกษุชื่อนี้ให้ครองจีวรหลายผืนด้วยกัน.
ถ้าภิกษุนั้น เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหาแล้วถึงการกำหนดใน
จีวรในสำนักของเขาว่า ดีละ ขอท่านทั้งหลายจ่ายจีวรเช่นนั้นเช่นนี้
ด้วยทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรเฉพาะผืน ๆ แล้ว ทั้ง ๒ คนรวมกัน ยังรูป
ให้ครองจีวรผืนเดียวเถิด เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ถือเอาความเป็นผู้
ใคร่ในจีวรดี.
ความแห่งสิกขาบทนี้ เหมือนแห่งสิกขาบทก่อน ต่างแต่เพียง
เขาต่างคนต่างเตรียมจะหาจีวรถวายคนละผืน คล้ายถวายพระบวชใหม่
ภิกษุเข้าไปพูดให้เขารวมทรัพย์เข้าเป็นอันเดียวกัน จ่ายจีวรแต่ผืนเดียว

หรือลดจำนวนน้อยลงมากว่า แต่เป็นของดีกว่าเฉพาะผืน. ทำอย่างนี้
เขาไม่ต้องเพิ่มทรัพย์ขึ้นอีก แต่เหตุไฉนไม่ทรงอนุญาต. เข้าใจว่า
เพราะเขาไม่ได้ปวารณาไว้เดิม เข้าไปพูดเช่นนั้น เป็นการเกินงาม.
สิกขาบทที่ ๑๐ ว่า อนึ่ง พระราชาก็ดี ราชอำมาตย์ก็ดี พราหมณ์
ก็ดี คฤหบดีก็ดี ส่งทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไปด้วยทูตเฉพาะภิกษุว่า
เจ้าจงจ่ายจีวร ด้วยทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรนี้แล้ว ยังภิกษุชื่อนี้ให้ครอง
จีวร. ถ้าทูตนั้น เข้าไปหาภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ทรัพย์สำหรับ
จ่ายจีวรนี้ นำมาเฉพาะท่าน ขอท่านจงรับทรัพย์สำหรับจ่ายจีวร.
ภิกษุนั้น พึงกล่าวต่อทูตนั้นอย่างนี้ว่า พวกเราหาได้รับทรัพย์สำหรับจ่าย
จีวรไม่ พวกเรารับแต่จีวรอันเป็นของควรโดยกาล. ถ้าทูตนั้นกล่าวต่อ
ภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ก็ใคร ๆ ผู้เป็นไวยาวัจกรของท่านมีหรือ ? ภิกษุผู้
ต้องการจีวร พึงแสดงชนผู้ทำการในอาราม หรืออุบาสก ให้เป็น
ไวยาวัจกร ด้วยคำว่า คนนั้นแลเป็นไวยาวัจกรของภิกษุทั้งหลาย.
ถ้าทูตนั้น สั่งไวยาวัจกรนั้นให้เข้าใจแล้ว เข้าไปหาภิกษุนั้นกล่าวอย่าง
นี้ว่า คนที่ท่านแสดงเป็นไวยาวัจกรนั้น ข้าพเจ้าสั่งให้เข้าใจแล้ว ท่านจง
เข้าไปหา เขาจักให้ท่านครองจีวรตามกาล ภิกษุผู้ต้องการจีวร เข้าไป
หาไวยาวัจกรแล้ว พึงทวงพึงเตือน ๒-๓ ครั้งว่า รูปต้องการจีวร.
ภิกษุทวงอยู่เตือนอยู่ ๒-๓ ครั้ง ยังไวยาวัจกรนั้นให้จัดจีวรสำเร็จได้
การให้สำเร็จได้ด้วยอย่างนี้ นั่นเป็นดี. ถ้าให้สำเร็จไม่ได้ พึงเข้าไป
ยืนนิ่งต่อหน้า ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง ๖ ครั้ง เป็นอย่างมาก. เธอยืนนิ่งต่อ
หน้า ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง ๖ ครั้ง เป็นอย่างมาก ยังไวยาวัจกรนั้นให้จัดจีวร

สำเร็จได้ การให้สำเร็จได้ด้วยอย่างนี้ นั่นเป็นดี. ถ้าให้สำเร็จไม่ได้
ถ้าเธอพยายามให้ยิ่งกว่านั้น ยังจีวรนั้นให้สำเร็จ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
ถ้าให้สำเร็จไม่ได้ พึงไปเองก็ได้ ส่งทูตไปก็ได้ ในสำนักที่ส่งทรัพย์
สำหรับจ่ายจีวรมาเพื่อเธอ บอกว่า ท่านส่งทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไปเฉพาะ
ภิกษุใด ทรัพย์นั้นหาสำเร็จประโยชน์น้อยหนึ่งแก่ภิกษุนั้นไม่ ท่าน
จงทวงเอาคืนทรัพย์ของท่าน ทรัพย์ของท่านอย่าได้ฉิบหายเสียเลย.
นี้เป็นสามีจิกรรม, [คือการชอบ] ในเรื่องนั้น.
พระคันถรจนาจารย์ แก้ความแห่งสิขาบทไว้ในคัมภีร์วิภังค์
กล่าวซ้ำความอีกวาระหนึ่ง เป็นแต่ไขความในข้อที่ควรอธิบาย จัก
กล่าวแต่เฉพาะบางคำ. คำแสดงไวยาวัจกรนั้นพูดเปรย ท่านจึงห้ามว่า
อย่าสั่งให้เขาให้ อย่ารับรองว่าผู้นั้นจักเก็บไว้ จักแลกจักจ่าย. เพราะ
คำทวงคำเตือนพูดเปรยแต่เพียงว่า ต้องการจีวร ท่านจึงห้ามไม่ให้พูดว่า
จงให้แก่รูป จงเอามาให้รูป จงไปแลก จงไปจ่ายให้รูป. ในข้อว่า
พึงยืนนิ่งต่อหน้านั้น ท่านสั่งว่าอย่านั่งบนอาสนะ อย่ารับอามิส อย่า
กล่าวธรรม เขาถามว่า มาธุระอะไร ? พึงกล่าวว่า รู้เอาเองเถิด
ถ้านั่งบนอาสนะก็ดี รับอามิสก็ดี กล่าวธรรมก็ดี ชื่อว่าหักการยืนเสีย
ท่านเทียบการเตือนและการยืนไว้ว่า ยืน ๒ ครั้ง เท่ากับเตือนครั้ง ๑
และยอมให้แลกกันได้. ข้อให้ไปบอกเจ้าของเมื่อไม่ได้รับประโยชน์แต่
ทรัพย์นั้น เป็นสามีจิกรรมนั้น พระอรรถกถาจารย์แก้ว่า ไม่ทำ ต้อง
อาบัติทุกกฏ เพราะวัตตเภท คือละเลยกิจวัตร.
ความเห็นของข้าพเจ้าว่า เรื่องนี้ควรกำหนดด้วยกรรมสิทธิ์ที่ภิกษุ

มีเพียงไร. ท่านห้ามมิให้สั่งให้มอบแก่ไวยาวัจกร เพื่อจะหลีกจากสั่งให้
รับรูปิยะ. ท่านห้ามมิให้รับรองว่า เขาจักเก็บจักจ่ายนั้นก็เหมือนกัน.
ท่านห้ามมิให้ทวงตรง ๆ นั้น จะถือว่าทูตไม่ได้พูดมอบให้กรรมสิทธิ์
กระมัง แต่การที่เขาไปบอกนั้น ชื่อว่าเป็นอันให้กรรมสิทธิ์อยู่เอง
ถ้าจะนึกโดยอย่างอื่น ก็เป็นเล่นสำนวนไป. ในสิกขาบทห้ามไม่ให้
พยายามกว่ากำหนดนั้นไป จะเป็นเพราะทำเกินงามก็ได้ ไม่ใช่เพราะ
ไม่มีกรรมสิทธิ์ ไม่เช่นนั้นจะต้องบอกเขาทำอะไร.
คำเสียสละจีวรเป็นนิสสัคคีย์แก่บุคคลว่าดังนี้:- "อิทํ เม ภนฺเต
จีวรํ อติเรกติกฺขตฺตุํ โจทนาย อติเรกฉกฺขตฺตุํ €าเนน อภินิปฺผาทิตํ
นิสฺสคฺคิยํ, อิมาหํ อายสฺมโต นิสฺสชฺชามิ." แปลว่า "จีวรผืนนี้ของ
ข้าพเจ้า ให้สำเร็จด้วยทวงเกิน ๓ ครั้ง ด้วยยืนเกิน ๖ ครั้ง จำจะ
สละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน."
เมื่อภิกษุทวงและยืนครบกำหนดแล้ว เลิกเสีย ไม่พยายามต่อไป
ไวยาวัจกรถวายเองก็ดี เจ้าของทวงเอามาถวายก็ดี ไม่เป็นอาบัติ.
โกสิยวรรคที่ ๒
สิกขาบทที่ ๑ ว่า อนึ่ง ภิกษุใด ให้ทำสันถัตเจือด้วยไหม เป็น
นิสสัคคิยปาจิตตีย์.
สันถัตนั้น เป็นผ้าอย่างหนึ่ง ไม่ได้ทอ ใช้หล่อ คือเอาขน
เจียมลาดเข้าแล้ว เอาน้ำข้าหรือของอื่นอันมียางพอจะให้ขนเจียมจับ
กัน พรมลงไป แล้วเอาขนเจียมโรย มีเครื่องรีดเครื่องทับ ทำให้เป็น
แผ่นหนาบางตามต้องการ. สิกขาบทนี้ห้ามว่า เมื่อจะทำสันถัตเช่นนั้น

ห้ามมิให้เจือไหมลงไป ถ้าขืนเจือลงไป เป็นนิสสัคคิยะ. ทำเองก็ดี
ใช้ผู้อื่นทำก็ดี ตั้งแต่ต้นจนสำเร็จ หรือตนทำค้างไว้ ใช้ผู้อื่นให้ทำต่อ
จนสำเร็จ หรือใช้ผู้อื่นให้ทำค้างไว้ ตนทำต่อให้สำเร็จ เป็นนิสสัคคิยะ
ทั้งนั้น. เรียกสั้นว่า จตุกกนิสสัคคิยปาจิตตีย์, ได้ของที่คนอื่นทำไว้
แล้วใช้สอย เป็นทุกกฏ. ใช้เป็นของอื่น เช่นเป็นเปลือกฟูก หรือ
หมอนเป็นต้น ไม่เป็นอาบัติ. ข้อนี้ พึงเข้าใจอธิบายว่า ความมุ่ง
หมายของสิกขาบท ก็เพื่อจะกันอย่าให้ตัวไหมต้องต้มวายวอด แต่มีคำ
ห้ามเฉพาะสันถัต ท่านจึงกล่าวว่า ใช้เป็นของอื่นไม่เป็นอาบัติ. ในที่
เช่นนี้ บางแห่งท่านปรับอาบัติแบ่งลงมาเป็นทุกกฏ. สันนิษฐานเห็นว่า
แม้ใช้เป็นของอื่น แต่ยังไม่พ้นทำความเสีย ควรปรับทุกกฎ. เรื่อง
สันถัตนี้ ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น แต่บางทีจะเป็นของใช้กันดื่น จนปรับ
ไม่ลงเสียแล้วกระมัง ท่านจึงว่าไม่เป็นอาบัติ. ถ้าจะอธิบายให้เข้ารูปแล้ว
ควรจะว่าอย่างนี้ : ทำเองหรือใช้ผู้อื่นทำเพื่อใช้เป็นของอื่น นอกจาก
ผ้ารองนั่ง เป็นทุกกฏ. ใช้ของที่เขาทำไว้โดยปกติ ไม่เป็นอาบัติ.
สิกขาบทที่ ๒ ว่า อนึ่ง ภิกษุใด ให้ทำสันถัตแห่งขนเจียมดำ
ล้วน เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
สิกขาบทที่ ๓ ว่า อนึ่ง ภิกษุผู้ให้ทำสันถัตใหม่ พึงถือเอาขน
เจียมดำล้วน ๒ ส่วน ขนเจียมขาวเป็นส่วนที่ ๓ ขนเจียมแดงเป็น
ส่วนที่ ๔. ถ้าภิกษุไม่ถือเอาขนเจียมดำล้วน ๒ ส่วน ขนเจียมขาว
เป็นส่วนที่ ๓ ขนเจียมแดงเป็นส่วนที่ ๔ ให้ทำสันถัตใหม่ เป็น
นิสสัคคิยปาจิตตีย์.

ความมุ่งหมายแห่งสิกขาบทนี้ เพื่อจะห้ามไม่ให้ใช่ขนเจียมดำ
เกินกว่า ๒ เสี้ยวที่ ๔ หรือครึ่งหนึ่ง ใช้ขนเจียมขาวก็ดี แดงก็ดี
เกินกว่าเสี้ยว ๑ หรือใช้ล้วนทีเดียว ไม่ห้าม. เหตุไฉนจึงห้าม
ขนเจียมดำ ข้าพเจ้าไม่เข้าใจ ในต้นบัญญัติกล่าวแต่เพียงว่าเหมือน
ของคฤหัสถ์. บางที่จะเป็นสีที่พวกภิกษุไม่นับถือกระมัง เช่นใน
ฉฬาภิชาติ แสดงคนใจบาปหยาบช้า เปรียบด้วยสีดำ.
สิกขาบทที่ ๔ ว่า อนึ่ง ภิกษุให้สำสันถัตใหม่แล้ว พึงทรงไว้
ให้ได้ ๖ ฝน. ถ้ายังหย่อนกว่า ๖ ฝน เธอสละเสียแล้วก็ดี ยังไม่
สละแล้วก็ดี ซึ่งสันถัตนั้น ให้ทำสันถัตอื่นใหม่ เว้นไว้แต่ภิกษุได้
สมมติ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
ปีหนึ่ง ในบาลีเรียกว่าฝนหนึ่ง กำหนดให้ใช้สันถัด ๖ ฝนนั้น
เป็นข้างเร็ว ใช้นานกว่านั้นไม่ห้าม. ที่ยกเว้นแก่ภิกษุผู้ได้รับสมมติ
ในนิทานว่า ทรงปรารภภิกษุอาพาธ ญาติเขาจะรับไปรักษา จะเอา
สันถัตไปด้วยไม่ได้ ไม่ใช้สันถัตก็ไม่สบาย เข้าใจยาก. ถ้าจะชี้ให้
เห็นง่าย ภิกษุมีสันถัตหาย ควรได้รับสมมติให้ทำใหม่แท้.
สิกขาบทที่ ๕ ว่า อนึ่ง ภิกษุผู้ให้ทำสันถัตสำหรับนั่ง พึงถือ
เอาคืบสุคตโดยรอบแห่งสันถัตเก่า เพื่อทำให้เสียสี. ถ้าภิกษุไม่ถือเอา
คืบสุคตโดยรอบแห่งสันถัตเก่า ให้ทำสันถัตสำหรับนั่งใหม่ เป็น
นิสสัคคิยปาจิตตีย์.
ในที่นี้แห่งเดียว มีคำว่า "สำหรับนั่ง" ติเข้ามาด้วย. พระ
คันถรจนาจารย์กล่าวแก้ไว้ในคัมภีร์วิภังค์ว่า เป็นของมีชาย แต่หา

ได้กล่าวไว้ให้ชัดเจนไม่. ข้อว่า ให้ถือเอาคืบสุคตโดยรอบนั้น ท่าน
กล่าวว่า โดยกลมก็ได้ โดย ๔ เหลี่ยมก็ได้. สันถัตเก่านั้น คือสันถัต
ที่ใช้แล้ว แต่อย่างไรในคัมภีร์วิภังค์จึงแก้ว่า ที่นุ่งแล้วก็ดี ห่มแล้ว
ก็ดี แม้คราวเดียว เห็นจะหลงมาจากปุราณจีวร. ท่านให้เอาคืบสุคต
หนึ่งโดยรอบ แห่งสันถัตเก่า ลาดลงในเอกเทศหนึ่ง หรือชีออกปน
กับขนเจียมใหม่ หล่อ, หาไม่ได้ ปนเข้าแต่น้อย หรือไม่ได้ปนเลย
ได้ของที่คนอื่นทำและใช้สอย ไม่เป็นอาบัติ.
สิกขาบทที่ ๖ ว่า อนึ่ง ขนเจียมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้เดินทาง ภิกษุ
ต้องการ พึงรับได้ ครั้นรับแล้ว เมื่อคนถือไม่มี พึงถือไปด้วยมือ
ของตนเองตลอดระยะทาง ๓ โยชน์เป็นอย่างมาก. ถ้าเธอถือเอาไป
ยิ่งกว่านั้น แม้คนถือไม่มี เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
โยชน์นั้น ในประเทศสยามนี้ นับว่า ๔๐๐ เส้น ในที่อื่นนับ
อย่างไรจะกล่าวข้างหน้า. ขนเจียมที่ทำเป็นสิ่งของแล้ว ไม่นับเข้า
ในสิกขาบทนี้. อยู่ในระหว่างทางชั่วคราวแล้ว นำต่อไปอีกได้.
สิกขาบทที่ ๗ ว่า อนึ่ง ภิกษุใด ยังภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ให้
ซักก็ดี ให้ย้อมก็ดี ให้สางก็ดี ซึ่งขนเจียม เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
อธิบายทั้งปวง พึงรู้โดยนัยอันกล่าวแล้วในสิกขาบทที่ ๔ แห่ง
จีวรวรรค อันว่าด้วยให้ซักจีวรเก่า.
สิกขาบทที่ ๘ ว่า อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง
เงิน หรือยินดีทองเงินอันเขาเก็บไว้ให้ก็ดี เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
ทองเงินนั้น อันเขาทำเป็นรูปพรรณแล้วก็ตาม อันเขาไม่ได้

ทำแล้ว ยังเป็นแท่นเป็นลิ่มอยู่ก็ตาม เป็นรูปิยะคือของสำหรับจ่ายก็ตาม
โดยที่สุด ของที่ไม่ใช่ทองเงิน แต่ใช้เป็นรูปิยะได้ ก็นับว่าทองเงิน
ในที่นี้. ข้อว่า ยินดีทองเงินอันเขาเก็บไว้ให้นั้น แต่ลำพังจิตตุปบาท
ไม่น่าจะเป็นอาบัติ จำจะหมายความถึงรับถือกรรมสิทธิ์ในของนั้น.
ทองเงินดันเป็นนิสสคคีย์นั้น ท่านให้สละในสงฆ์. คำเสียสละ
ว่า "อหํ ภนฺเต รูปิยํ ปฏิคฺคเหสี, อิทํ เม นิสฺสคฺคิยํ, อิมาหํ
สงฺฆสฺส นิสฺสชฺชามิ" แปลว่า "ข้าพเจ้ารับรูปิยะไว้แล้ว ของนี้เป็น
นิสสัคคีย์ ข้าพเจ้าสละรูปิยะนี้แก่สงฆ์." ทองเงินที่สละแล้วนี้ สงฆ์
จักทำอย่างไรต่อไป ? ท่านสอนว่า พึงบอกให้แก่อุบาสกผู้บังเอิญมา
ถึงเข้า ถ้าเขาไม่เอา พึงขอให้เขาช่วยทิ้งเสีย ถ้าเขาไม่รับ พึงสมมติ
ภิกษุเป็นผู้ทิ้ง เลือกผู้ประกอบด้วยองคสมบัติ ๕ อย่าง คือ ไม่ถึง
อคติ ๔ และรู้จักว่า ทำอย่างไรเป็นอันทิ้งหรือไม่เป็นอันทิ้ง. ภิกษุนั้น
พึงทิ้งอย่าหมายที่ตก ถ้าทิ้งหมายที่ตก ต้องทุกกฏ.
อาบัติในสิกขาบทนี้เป็นอจิตตกะ เรื่องนี้แต่แรกดูเหมือนห้าม
เป็นกวดขัน แต่ภายหลัง มีพระพุทธานุญาตในที่อื่นผ่อนลงมา ถ้า
คฤหัสถ์เขาเอารูปิยะมอบไว้ในมือกัปปิยการกสั่งไว้ว่า จงจัดหาของ
อันเป็นกัปปิยะถวายภิกษุ สิ่งใดเป็นของควร ทรงพระอนุญาตให้
ยินดีของนั้นแต่รูปิยะนั้นได้ แต่ห้ามมิให้ยินดีตัวรูปิยะนั้น. แม้เชนนี้
ก็ไม่ผิดอะไรนัก จากข้อว่า ยินดีทองเงินอันเขาเก็บไว้ให้ เป็นแต่ยัก
เสียว่า อย่าถือเอากรรมสิทธิ์ในทองเงินนั้น แต่ถือเอากรรมสิทธิ์ใน
อันจะได้ของเป็นกัปปิยะแต่ทองเงินนั้น ได้อยู่. เรื่องนี้ ทรงพระ

ปรารภเศรษฐีเมณฑกะเป็นผู้ทำขึ้นก่อน ทรงพระอนุญาตไว้ จึงเรียกว่า
เมณฑกานุญาต.
สิกขาบทที่ ๙ ว่า อนึ่ง ภิกษุใด ถึงความแลกเปลี่ยนด้วยรูปิยะ
มีประการต่าง ๆ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
รูปิยะนั้น ทองเงินก็ดี ของอื่นก็ดี อันใช้เป็นมาตราสำหรับ
แลกเปลี่ยน. ถึงความแลกเปลี่ยนด้วยรูปิยะมีประการต่าง ๆ นั้น
ได้แก่เอารูปิยะจ่ายซื้อกัปปิยบริขารต่างชนิดก็ดี จ่ายเป็นค่าแรงคนทำ
การต่างอย่างก็ดี และจ่ายเป็นค่าอื่น ๆ อีกก็ดี. สิกขาบทนี้มีประโยชน์
ที่จะกันไม่ให้เขาทองเงินที่เป็นนิสสัคคีย์ในสิกขาบทก่อน มาจ่ายซื้อ
กัปปิยบริขารและจ้างคนทำการ. นี้อธิบายตามมติของข้าพเจ้า. ฝ่าย
พระคันถรจนาจารย์อธิบายความไปทางอื่น ทองเงินที่ได้ทำเป็นรูป-
พรรณก็ดี ไม่ได้ทำก็ดี ซึ่งควรจะอธิบายในสิกขาบทก่อน ท่าน
อธิบายในสิกขาบทนี้ และการแลกเปลี่ยนด้วยรูปิยะนั้น ท่านอธิบายว่า
เอาของรูปพรรณกับของรูปพรรณ แลกเปลี่ยนกันบ้าง เอาของที่ไม่ได้
ทำเป็นรูปพรรณกับของอย่างเดียวกันนั้น แลกเปลี่ยนกันบ้าง เอาของ
๒ อย่างนั้นสับแลกเปลี่ยนกันบ้าง ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ทำอย่างนั้นสำเร็จ
เป็นอันห้ามด้วยสิกขาบทก่อนแล้ว ความแห่งสิกขาบทนี้ น่าจะไม่ซ้ำ
กับความแห่งสิกขาบทก่อน. ของเป็นนิสสัคคีย์ด้วยสิกขาบทนี้ ท่านให้
สละในสงฆ์เหมือนในสิกขาบทก่อน. คำเสียสละว่าอย่างนี้ :- "อหํ
ภนฺเต นานปฺปการกํ รูปิยสํโวหารํ สมาปชฺชึ, อิทํ เม นิสฺสคฺคิยํ,
อิมาหํ สงฺฆสฺส นิสฺสชฺชามิ." แปลว่า "ข้าพเจ้าถึงการแลกเปลี่ยน

ด้วยรูปิยะมีประการต่าง ๆ ของนี้ของข้าพเจ้า จำจะสละ ข้าพเจ้าสละ
ของสิ่งนี้แก่สงฆ์." ค่าแรงสละไม่ได้ ก็พึงแสดงแต่อาบัติ.
สิขาบทที่ ๑๐ ว่า อนึ่ง ภิกษุใด ถึงการซื้อและขายมีประการ
ต่าง ๆ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
การซื้อและขายในที่นี้ ได้แก่แลกเอา หรือรับเอาของอันเป็น
กัปปิยะด้วยของอันเป็นกัปปิยะเหมือนกัน เช่นการที่ทำกันในระหว่าง
คนขายของเครื่องใช้ กับชาวนาผู้ซื้อด้วยข้าวเปลือก เพราะการซื้อ
ขายด้วยรูปิยะ ห้ามด้วยสิกขาบทก่อน ๆ แล้ว. ถือเอาอธิบายอย่างนี้
การแลกเปลี่ยนของกัน ซึ่งไม่นับในซื้อขาย ที่เรียกในคำมคธว่า
"ปาริวฏฺฏกํ" ก็นับเข้าในนี้ด้วย แต่ท่านห้ามไม่ให้ทำเฉพาะกับคฤหัสถ์
เพราะในพวกสหธรรมิกมีอนุญาตไว้ชัดแล้ว. ของเป็นนิสสัคคีย์ใน
สิกขาบทนี้ ท่านกล่าวว่าให้เสียสละแก่สงฆ์ แก่คณะ แก่บุคคลก็ได้.
คำเสียสละแก่บุคคลว่าอย่างนี้ :- "อหํ ภนฺเต นานปฺปการกํ กยวิกฺกยํ
สมาปชฺชึ, อทํ เม นิสฺสคฺคิยํ, อิมาหํ อายสฺมโต นิสฺสชฺชามิ"
แปลว่า "ข้าพเจ้าได้ถึงการซื้อขายมีประการต่าง ๆ ของสิ่งนี้ของ
ข้าพเจ้า จำจะสละ ข้าพเจ้าสละของสิ่งนี้แก่ท่าน." ภิกษุถามราคาต่อ
เจ้าของเอง แล้วแจ้งความต้องการของตนแก่กัปปิยการก ท่านกล่าวว่า
ไม่เป็นอาบัติ.
ปัตตวรรคที่ ๓
สิกขาบทที่ ๑ ว่า พึงทรงอติเรกบาตรไว้ได้ ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง
ภิกษุให้ล่วงกำหนดนั้นไป เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.

บาตรนั้น เป็นของทำด้วยดินเผาบ้าง ด้วยเหล็กบ้าง มีขนาด
เล็ก กลาง ใหญ่ อันจะกล่าวในที่อื่น เป็นของทรงอนุญาตให้เป็น
บริขารของภิกษุเฉพาะใบเดียว บาตรอันภิกษุตั้งไว้เป็นบริขารอย่างนี้
เรียกบาตรอธิษฐาน. บาตรมากกว่านี้ ตั้งแต่ใบที่ ๒ ขึ้นไป เรียก
อติเรกบาตร. อติเรกบาตรนั้น ไม่ได้ทรงพระอนุญาตเกิน ๑๐ วัน
เป็นพิเศษ ดุจจีวรที่ได้ทรงพระอนุญาตในบางคราว ภิกษุให้ล่วง ๑๐

วันไป เป็นนิสัคสัคคิยปาจิตตีย์.
คำเสียสละแก่บุคคลว่าอย่างนี้ :- "อยํ เม ภนฺเต ปตฺโต
ทสาหาติกฺกนฺโต นิสฺสคฺคิโย, อิมาหํ อายสฺมโต นิสฺสชฺชามิ" แปลว่า
"บาตรใบนี้ของข้าพเจ้าล่วง ๑๐ วัน จำจะสละ ข้าพเจ้าสละบาตรใบ
นี้แก่ท่าน." คำคืนให้ ว่าดังนี้ :- "อิมํ ปตฺตํ อายสฺมโต ทมฺมิ"
แปลว่า "ข้าพเจ้าให้บาตรใบนี้แก่ท่าน." ไม่เสียสละ บาตรเป็น
นิสสัคคิยะ ใช้สอยต้องทุกกฏ. บาตรนั้น ทรงอนุญาตให้วิกัปได้
ดุจจีวร. อธิบายนอกจากนี้ พึงรู้โดยนัยอันกล่าวแล้วในสิกขาบท
ปรารภอติเรกจีวร.
สิกขาบทที่ ๒ ว่า อนึ่ง ภิกษุใด มีบาตรมีแผลหย่อน ๕ ให้
จ่ายบาตรอื่นใหม่ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์. ภิกษุนั้นพึงสละบาตรนั้น
ในภิกษุบริษัท. บาตรในสุดแห่งภิกษุบริษัทนั้น พึงมองให้แก่ภิกษุนั้น
สั่งว่า นี้บาตรของท่าน พึงทรงไว้ [คือใช้] กว่าจะแตก นี้เป็น
สามีจิกรรม [คือการชอบ] ในเรื่องนี้.
รอยร้าว ยาวตั้งแต่ ๒ นิ้ว จัดว่าเป็นแผลแห่งหนึ่งแห่งบาตร

ยาวไม่ถึงนั้น ไม่นับ. คำว่า จ่ายนั้น ท่านแก้ไว้ในคัมภีร์วิภังค์ว่าขอ
บาตรเป็นนิสสัคคีย์ในสิกขาบทนี้ ท่านให้สละในสงฆ์. ครั้นแล้ว
สงฆ์พึงสมมติภิกษุรูปหนึ่ง ผู้ไม่ลุอำนาจอคติ และรู้จักจะทำ ให้เป็น
ผู้เปลี่ยนบาตร. ภิกษุนั้น พึงเอาบาตรใหม่นั้นถวายพระเถระ เอา
บาตรของพระเถระถวายพระรูปที่ ๒ เปลี่ยนเลื่อนลงมาโดยนัยนี้จน
ภิกษุใหม่ในสงฆ์แล้ว รับบาตรของภิกษุใหม่นั้น มอบให้แก่ภิกษุนั้น
ไว้ใช้. มีคำห้ามไว้ไม่ให้อธิษฐานบาตรเลว ด้วยหมายจะได้บาตรดี
ทำอย่างนั้น ปรับเป็นทุกกฏ.
การเปลี่ยนบาตรเช่นนี้ ไม่น่าจะเห็นว่า ได้ดีกว่ากันเป็น
ลำดับขึ้นไป ตั้งแต่สังฆนวกะจนถึงพระสังฆเถระ เมื่อเป็นเช่นนี้
ภิกษุบริษัทนั้น ต้องพลอยได้พลอดเสียด้วยภิกษุผู้ต้องอาบัตินิสสัคคิย-
ปาจิตตีย์ ยังไม่เป็นธรรมปรากฏพอ น่าจะมีเหตุอะไรแฝงอยู่ แต่
ในเวลานี้ยังตรองไม่เห็น พระวินัยธรจงดำริข้างหน้าเถิด.
สิกขาบทที่ ๓ ว่า อนึ่ง มีเภสัชอันควรลิ้มของภิกษุผู้อาพาธ
คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ภิกษุรับ ประเคน
ของนั้นแล้ว พึงเก็บไว้ฉันได้ ๗ วันเป็นอย่างยิ่ง. ภิกษุให้ล่วงกำหนด
นั้นไป เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
ในคัมภีร์วิภังค์แก้เภสัช ๕ ไว้ว่า เนยใส เนยข้น นั้น ทำจาก
น้ำนมโคบ้าง น้ำนมแพะบ้าง น้ำนมกระบือบ้าง มังสะของสัตว์ใด
เป็นกัปปิยะ ทำจากน้ำนมสัตว์นั้นก็ใช้ได้. น้ำมันนั้น สกัดออกจาก
เมล็ดงาบ้าง จากเมล็ดพันธุ์ผักกาดบ้าง จากเมล็ดมธุกะ ที่แปลว่า

มะซางบ้าง จากเมล็ดละหุ่งบ้าง จากเปลวสัตว์บ้าง. น้ำผึ้งนั้น คือ
รสหวานที่แมลงผึ้งทำ. น้ำอ้อยนั้น คือรสหวานเกิดจากอ้อย.
เพราะคำหลังนี้ พระเถระบางรูป รังเกียจรสหวานอันออกจาก
ต้นตาล. ความพอใจของท่านจะถือเท่าศัพท์แน่วไป ไม่เพ่งถึงอรรถรส.
มติของข้าพเจ้า รสหวานอันออกจากอ้อยก็ดี ตาลก็ดี จากอื่นอีกก็ดี
ย่อมให้สำเร็จประโยชน์เป็นอย่างเดียวกัน ใช้ได้เหมือนกัน ไม่ควร
รังเกียจ. ข้อนี้คนสามัญเขาก็เข้าใจกัน เขาตั้งชื่อว่าน้ำตาล. เหตุที่ตั้ง
ชื่ออย่างนี้ เพราะได้พบหรือเคยใช้รสหวานออกจากตาลก่อน ชะรอย
อ้อยไม่ใช่ของเกิดเดิมในพื้นเมือง. ภายหลังได้พบว่า ออกจาก
มะพร้าวก็มี ออกจากอ้อยก็มี ออกจากอื่นก็มี เขาก็คงเรียกว่าน้ำตาล
ตามเดิม เพ่งเอาแต่อรรถรส. คำแก้บทผาณิตว่า รสหวานเกิดแต่อ้อย
หรือเรียกสั้นว่าน้ำอ้อย ในคัมภีร์วิภังค์นั้นก็เป็นอย่างเดียวกัน ที่นั้น
พบว่า ออกจากอ้อยก่อนก็ตั้งชื่อตามนั้น ภายหลังพบว่า ออกจาก
อย่างอื่นอีก ก็คงเรียกอย่างนั้น. อีกอุทาหรณ์หนึ่ง ชาวมคธพบว่า
น้ำมันออกจากเมล็ดงาซึ่งเรียกว่า "ติลํ" จึงตั้งชื่อว่า "เตลํ"
แปลว่า ออกจากเมล็ดงา ภายหลังพบว่า น้ำมันออกจาเมล็ดอื่นก็มี
ออกจากเปลวมันก็มี ก็คงเรียกว่า "เตลํ" อยู่นั่นเอง. ถ้าเข้าใจว่า
ใช้ได้เฉพาะรสเกิดแต่อ้อยเท่านั้นแล้ว อย่าใช้เสียเลยดีกว่า รู้ด้วย
อย่างไรว่าน้ำตาลในทุกวันนี้ทำออกจากน้ำอ้อย.
เหตุไฉน ทรงพระอนุญาตให้ใช้ได้เพียง ๗ วันเป็นอย่างมาก
นั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เพื่อจะกันใช้ของเสีย เช่นมีกลิ่นหืนและมี

รสเปรี้ยว. อย่างไรก็ตาม ภิกษุให้ล่วง ๗ วันไป เป็นนิสสัคคีย์.
คำเสียสละแก่บุคคลว่า :- "อิทํ เม ภนฺเต เภสชฺชํ สตฺตาหาติกฺกนฺตํ
นิสฺสคฺคิยํ, อิมาหํ อายสฺมโต นิสฺสชฺชามิ" แปลว่า "เภสัชนี้ของ
ข้าเจ้า ล่วง ๗ วัน จำจะสละ ข้าพเจ้าสละเภสัชนี้แก่ท่าน." คำคืน
ให้ว่าดังนี้ :- "อิมํ เภสชฺชํ อายสฺมโต ทมฺมิ" แปลว่า "ข้าพเจ้า
ให้เภสัชนี้แก่ท่าน." ท่านสั่งไว้ว่า ได้เภสัชที่สละแล้วคืนมา ภิกษุ
นั้นเองก็ดี ภิกษุอื่นก็ดี อย่าฉัน ใช้ในกิจภายนอก เป็นต้นว่า ตาม
ไฟและผสมสีได้อยู่. ภิกษุอื่นท่านอนุญาตให้ใช้ทากายได้ด้วย. ผูก
ใจไว้ก่อนว่า จะไม่บริโภค ล่วง ๗ วันไป ไม่เป็นอาบัติ. ของ
นั้นสูญหายไปเสียก็ดี ขาดจากกรรมสิทธิ์ของตนแล้วก็ดี ในภายใน
๗ วัน ชื่อว่าไม่มีแล้ว ไม่เป็นวัตถุแห่งอาบัติ. ท่านกล่าวว่าสละให้
ขาดแก่อนุปสัมบันแล้ว ได้คืนมา ฉันได้อีก ถ้าเภสัช ล่วง ๗ วัน
แม้ภิกษุอิ่มก็ฉันไม่ควร น่าจะไม่ควรเหมือนกัน แต่จะเรียกว่าไม่เป็น
นิสสัคคีย์ได้อยู่.
สิกขาบทที่ ๔ ว่า ภิกษุ [รู้] ว่าฤดูร้อนยังเหลืออีก ๑ เดือน
พึงแสวงหาจีวรคือผ้าอาบน้ำฝนได้ [รู้] ว่าฤดูร้อนยังเหลืออีกกึ่งเดือน
พึงทำนุ่งได้ ถ้าเธอ [รู้]ว่าฤดูร้อนเหลือล้ำกว่า ๑ เดือน แสวงหาจีวร
คือผ้าอาบน้ำฝน [รู้] ว่าฤดูร้อนเหลือล้ำกว่ากึ่งเดือนทำนุ่ง เป็น
นิสสัคคิยปาจิตตีย์.
ผ้าอาบน้ำฝนนั้น เป็นของทรงพระอนุญาตเป็นบริขารพิเศษ
ชั่วคราวของภิกษุ อธิษฐานไว้ใช้ได้ตลอด ๔ เดือนฤดูฝน พ้นนั้น

เป็นธรรมเนียมให้วิกัป. ในสิกขาบทนี้ทรงพระอนุญาตให้แสวงหา
ล้ำฤดูฝนเข้ามา ๑ เดือน คือตั้งแต่เดือน ๗ แรมค่ำ ๑ ถึงเดือน ๘
ขึ้น ๑๕ ค่ำ, ให้ทำนุ่งล้ำฤดูฝนเข้ามากึ่งเดือน คือตั้งแต่เดือน ๘ ขึ้น ๑ ค่ำ
ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ. พระพุทธานุญาตให้แสวงหานั้น น่าจะให้ประโยชน์
พิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นขอเขาได้ตรง ๆ และเก็บไว้ได้นานกว่า
อติเรกจีวรสามัญ แต่การขอเขาตรง ๆ นั้น ท่านห้ามไว้ ในคัมภีร์
วิภังค์ ท่านอนุญาตให้บอกเขาเพียงว่า ถึงกาลแห่งผ้าวัสสิกสาฎกละ
และผ้าที่หาได้มาแล้ว มีคติเป็นอย่างไร ท่านไม่กล่าวถึง. พระพุทธา-
นุญาตให้ทำนุ่งนั้น น่าจะให้ประโยชน์พิเศษ คืออธิษฐานล้ำเข้ามาก่อน
ฤดูฝนได้ แต่ท่านไม่ได้กล่าวถึง.
การปรับอาบัติในสิกขาบทนี้ เพราะถือเอาประโยชน์พิเศษนั้น
ล้ำกำหนดกาลที่ทรงพระอนุญาตไว้ น่าจะแลเห็นว่า มุ่งวันมากออก
ไป. แต่มีข้อจะพึงวิจารณ์ว่า ถ้าภิกษุแสวงหาล้ำกำหนดนั้น แต่หา
ในสำนักญาติอันไม่เป็นวิญญัติ จะได้บริหารอย่างอติเรกจีวรหรือไม่
หรือสักว่าต้องการเป็นผ้าอาบน้ำฝน แสวงหาล้ำกำหนดได้มา ก็เป็น
นิสสัคคีย์ ไม่ได้บริหารอย่างอติเรกจีวร. ถ้าอย่างนี้ใครจะโง่เกินไป
จนถึงจะให้ต้องอาบัติในสิกขาบทนี้ อย่างไรก็ยังมีทางแก้ตัวอีกว่า
รับมาโดยฐานเป็นอติเรกจีวรต่างหาก. อนึ่ง ถ้าภิกษุทำนุ่งล้ำเขตพระ
พุทธานุญาต จะกำหนดต่างอย่างไรจากนุ่งอติเรกจีวร. ข้าพเจ้าปรารถนา
จะเข้าใจว่า การแสวงหาล้ำเขตพระพุทธานุญาตนั้น หมายเฉพาะขอ
ต่อคฤหัสถ์ผู้มิใช่ญาติ มิใช่คนปวาวณา แม้จะขอโดยฐานเป็นอติเรกจีวร

ก็คงเป็นนิสสัคคีย์ ในสิกขาบทอันปรารภการขอจีวรเหมือนกัน การ
ทำนุ่งนั้น หมายเอาอธิษฐานไว้ใช้เป็นผ้าวัสสิกสาฎก ถ้าแสวงหาใน
สำนักญาติและคนปวารณา ที่ไม่เป็นวิญญัติ และใช้นุ่งด้วยมิได้อธิษฐาน
เช่นนี้ได้บริหารอย่างอติเรกจีวร ไม่นับเข้าในสิกขาบทนี้.
อนึ่ง อรรถแห่งสิกขาบทนี้บ่งว่า อาบัติเป็นสจิตตกะ แต่ใน
คัมภีร์วิภังค์ท่านแก้เป็นอจิตตกะ พิจารณาดูก็น่าจะเป็นจริงอย่างนั้น
ต่างว่ายังไม่ถึงกาลกำหนด ภิกษุสำคัญว่าถึงแล้ว ด้วยนับวนพลาดไป
แสวงหาผ้าอาบน้ำฝนในสำนักคฤหัสถ์มิใช่ญาติมิใช่ปวารณาดังนี้ จะว่า
ไม่เป็นอาบัติเลยก็ไม่ได้. ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ความแห่งสิกขาบทนี้
ไม่ได้เพ่งถึงความเข้าใจผิดเลย ถือเสียว่า รู้จักนับวันอยู่ด้วยกันทั้งนั้น
แม้หากการนับวันพลาดในหัวต่อแห่งกำหนดกาลอันเป็นเขต จะพึงมีได้
บ้าง. เพราะเหตุนั้น ต้องเข้าใจตามคำของพระคันถรจนาจารย์ว่า
อาบัติในสิกขาบทนี้ เป็นอจิตตกะ.
สิกขาบทที่ ๕ ว่า อนึ่ง ภิกษุใด ให้จีวรแก่ภิกษุเองแล้ว โกรธ
น้อยใจชิงเอามาก็ดี ให้ชิงเอามาก็ดี เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
การชิงเอาจีวรคืน ท่านปรับเพียงเป็นนิสสัคคีย์เท่านั้น เพราะ
ทำด้วยสกสัญญา และท่านรับรองกรรมสิทธิ์แห่งเจ้าของเดิมว่า ยังมีอยู่
ในจีวรนั้น จึงไม่ปรับเป็นอวหาร. นิทานต้นสิกขาบท บ่งความข้อนี้ชัด
ด้วยกล่าวการให้จีวรแก่กัน ด้วยหวังจะให้ทำกิจอย่างหนึ่ง ฝ่ายภิกษุ
ผู้ได้รับ กลับใจเสียหาทำไม่ เช่นนี้ภิกษุผู้ให้ควรได้รับประโยชน์จาก
การให้นั้น แต่การชิงเอามา ไม่เป็นความดีความงาม.

สิกขาบทนี้กล่าวเฉพาะจีวร ชิงบริขารอื่นคืนมา ไม่ดีเหมือนกัน
ท่านจึงปรับเป็นทุกกฏ. และสิกขาบทนี้ปรารภภิกษุต่อภิกษุด้วยกัน
แต่ทำแก่อนุปสัมบันก็ไม่ดีเหมือนกัน ท่านจึงปรับเป็นทุกกฏ. ภิกษุนั้น
ให้คืนเองก็ดี เจ้าของเดิมถือเอาด้วยวิสาสะแก่ภิกษุนั้นก็ดี ท่านว่า
ไม่เป็นอาบัติ. คำต้นพึงรู้ เช่นรับไว้เพื่อจะทำประโยชน์อย่างหนึ่งให้
ึครั้นจะไม่ทำประโยชน์อย่างนั้นแล้ว คืนให้เจ้าของเดิมเสีย เจ้าของเดิม
รับคือไม่เป็นอาบัติ. คำหลังพึงรู้ เช่นไม่ได้โกรธเคือง แต่เห็นว่า
เธอไม่ต้องการใช้ ขอเอากลับคืนมา ไม่เป็นอาบัติ.
สิกขาบทที่ ๖ ว่า อนึ่ง ภิกษุใด ขอด้ายมาเองแล้ว ยังช่างหูก
ให้ทอจีวร เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
คำว่าขอในที่นี้ พึงรู้ว่าทำในสำนักคฤหัสถ์ผู้มิใช่ญาติ มิใช่คน
ปวารณา. ขอผ้าที่ทอแล้ว ห้ามด้วยสิกขาบทปรารภการขอจีวร ของด้าย
มาทอเอาเอง ห้ามด้วยสิกขาบทนี้.
สิกขาบทที่ ๗ ว่า อนึ่ง พ่อเจ้าเรือนก็ดี แม่เจ้าเรือนก็ดี ผู้
มิใช่ญาต สั่งช่างหูกให้ทอจีวรเฉพาะภิกษุ ถ้าภิกษุนั้นเขาไม่ได้
ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหาช่างหูกแล้ว ถึงความกำหนดในจีวร ใน
สำนักของเขานั้นว่า จีวรผืนนี้ทอเฉพาะรูป ขอท่านจงทำให้ยาวให้กว้าง
ให้แน่น ให้เป็นของที่ขึงดี ให้เป็นของที่ทอดี ให้เป็นของที่สางดี
ให้เป็นของที่กรีดดี แม้ไฉน รูปจะให้ของเล็กน้อยเป็นรางวัลแก่ท่าน.
ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุนั้นให้ของเล็กน้อยเป็นรางวัล โดยที่สุด
แม้สักว่าบิณฑบาต เป็นนิสัคคิยปาจิตตีย์.

ความอธิบายแห่งสิกขาบทนี้ พึงรู้โดยนัยอันกล่าวแล้วในสิกขา-
บทปรารภการเตรียมจะจ่ายจีวรที่ ๘ แห่งจีวรวรรค.
สิกขาบทที่ ๘ ว่า วันบุรณมีที่ครบ ๓ เดือนแห่งเดือนกัตติกา
[คือ เดือน ๑๑] ยังไม่มาอีก ๑๐ วัน อัจเจกจีวรเกิดขึ้นแก่ภิกษุ. ภิกษุ
รู้ว่าเป็นอัจเจกจีวร พึงรับไว้ได้. ครั้นรับไว้แล้ว พึงเก็บไว้ได้จน
ตลอดสมัยที่เป็นจีวรกาล. ถ้าเธอเก็บไว้ยิ่งกว่านั้น เป็นนิสสัคคิย-
ปาจิตตีย์.
เดือนกัตติกานั้นมี ๒. วันเพ็ญเดือนกัตติกาต้น เรียกว่าบุรณมี
ที่ครบ ๓ เดือน ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๑๑ เป็นวันปวารณา วันเพ็ญ
แห่งเดืนอกัตติกาหลัง เรียกว่าบุรณมีเป็นที่เต็ม ๔ เดือนบ้าง เรียกว่า
บุรณมีเป็นที่บานแห่งดอกกุมุทบ้าง เรียกแต่เพียงว่าบุรณมีแห่งเดือน
กัตติกาบ้าง ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๑๒ วันบุรณมีที่ครบ ๓ เดือน
แห่งเดือนกัตติกายังไม่มาอีก ๑๐ วัน ตรงขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๑๑

เมื่อพ้นวันบุรณมีนั้นแล้ว เข้าเขตจีวรกาล อันเป็นสมัยที่ทายกถวายผ้า
แก่ภิกษุผู้ออกพรรษาแล้ว ซึ่งเรียกว่าวัสสาวาสิกา หรือว่าผ้าจำนำ
พรรษา และเป็นเวลาที่ภิกษุผลัดเปลี่ยนจีวร พระศาสดาทรงอนุญาต
ประโยชน์พิเศษไว้หลายประการ เป็นต้นว่าเก็บอติเรกจีวรไว้ได้เกิน
๑๐ วัน ไปข้างไหนไม่ต้องมีครบไตรจีวรตลอดเดือนหนึ่ง ถึงวันเพ็ญ
เดือนกัตติกาหลัง ถ้าได้กรานกฐินในระหว่างนั้น ยืดออกไปได้อีก ๔
เดือน ในฤดูเหมันต์ ยังไม่ทันถึงกำหนดนั้นอีก ๑๐ วัน หากจะมี
ทายกรีบร้อนของถวายผ้าจำนำพรรษา ปรารภเหตุต่าง ๆ เช่นจะต้องไป

ในกองทัพก็ดี จะไม่อยู่ด้วยกิจการอื่นก็ดี เจ็บไจหรือเป็นหญิงมีครรภ์
ไม่ไว้ใจต่อชีวิตก็ดี มีศรัทธาเลื่อมใสเกิดขึ้นใหม่ก็ดี ผ้าเช่นนี้เรียก
อัจเจกจีวร แปลว่า จีวรรีบร้อน ทรงพระอนุญาตให้รับล่วงหน้าได้
ในสักขาบทนี้. และให้เก็บไว้ได้ตั้งแต่วันรับตลอดจีวรกาล. ข้อนี้
ให้สันนิษฐานเห็นว่า ประทานประโยชน์พิเศษไว้ คือภิกษุจำพรรษา
อีก ๑๐ วัน จึงจะครบกำหนด ๓ เดือน ถือว่าเป็นใช้ได้ แต่ใน
วัสสูปนายิกขันธกะกำหนดไว้สัตตาหะหนึ่ง เมื่อถึงกำหนดนี้แล้ว มีกิจ
จำจะไปไม่ต้องกลับมาใน ๗ วันก็ได้ ในสิกขาบทนี้ กำหนด ๑๐ วัน
เท่ากับอายุอติเรกจีวร พอถึงจีวรกาลก็ไม่ต้องวิกัป ต่อพ้นกำหนดนั้น
ไปแล้ว จึงเป็นนิสสัคคีย์.
สิกขาบทที่ ๙ ว่า อนึ่ง [ถึง] วันบุรณมีแห่งเดือนกัตติกาที่สุด
แห่งฤดูฝน ภิกษุอยู่ในเสนาสนะป่าที่รู้กันว่าเป็นที่มีรังเกียจ มีภัย
จำเพาะหน้า ปรารถนาอยู่ พึงเก็บจีวร ๓ ผืน ผืนใดผืนหนึ่งไว้ใน
ละแวกบ้านได้ และปัจจัยอะไร ๆ เพื่อจะอยู่ปราศจากจีวรนั้น จะพึงมี
แก่ภิกษุ ภิกษุนั้นพึงอยู่ปราศจากจีวรนั้นได้ ๖ คืนเป็นอย่างยิ่ง. ถ้าเธอ
อยู่ปราศยิ่งกว่านั้น เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
บาลีแห่งสิกขาบทนี้มัว เข้าใจยาก จะพูดถึงมากไป ก็เกรง
จะฟั่นเฝือ, ขอแสดงตามความเข้าใจของข้าพเจ้าดังนี้ว่า ภิกษุอยู่ใน
เสนาสนะป่า เป็นที่เปลี่ยวระแวงภัย ตลอดมาถึงวันเพ็ญเดือน ๑๒

ถ้ามีเหตุบางอย่าง เพื่อจะอยู่ปราศจากไตรจีวรบางผืน เธอปรารถนา
อย่างนั้น ก็เก็บไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งนั้นไว้ในละแวกบ้านได้ แต่

จะอยู่ปราศจากจีวรผืนนั้นได้เพียง ๖ คืนเป็นอย่างมาก. ตามนัยนี้
ภิกษุผู้จำพรรษามาแล้ว คงได้อนุญาตเพื่ออยู่ปราศจากจีวร เพิ่มขึ้น
จากจีวรกาลอีก ๖ วัน. ข้าพเจ้าไม่ยืนยันว่าความเข้าใจนี้เป็นถูก ขอ
ฝากไว้แก่นักวินัย เพื่อดำริต่อไป เป็นแต่ขอชี้แง่ที่จะพึงดำริไว้ คือ
"อุปวสฺสํ" บทหนึ่ง พากย์ว่า ถึงปัจจัยเพื่อจะอยู่ปราศจากจีวร อัน
เรียงแยกจากพากย์ก่อนแห่งหนึ่ง.
เสนาสนะป่านั้น ในคัมภีร์วิภังค์กล่าวว่า มีระยะไกล ๕๐๐ ชั่วธนู
เป็นอย่างน้อย. ชั่วธนูหนึ่ง ๔ ศอก คือ ๑ วา วัดโดยทางที่ไปมา
ตามปกติ ไม่ใช่ลัด. โดยนัยนี้ เสนาสนะอันอยู่ไกลจากบ้านคน
อย่างน้อยเพียง ๒๕ เส้น ชื่อว่าเสนาสนะป่า. เสนาสนะเช่นนั้น จัด
ว่าเป็นที่รับเกียจ เพราะที่อยู่ที่กิจเป็นต้นของพวกโจรปรากฏอยู่ จัดว่า
เป็นที่มีภัยจำเพาะหน้า เพราะมีคนถูกฆ่าถูกตีถูกปล้นปรากฏอยู่. ภิกษุ
อยู่ในเสนาสนะเช่นนี้ ได้ประโยชน์พิเศษ เพื่อจะอยู่ปราศจากจีวร
เพิ่มขึ้นอีก ๖ คืน ตามพระพุทธานุญาตในสิกขาบทนี้.
สิกขาบทที่ ๑๐ ว่า อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ น้อมลาภที่เขาน้อมไว้
เป็นของจะถวายสงฆ์มาเพื่อตน เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
ลาภในที่นี้ ได้แก่จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชซึ่งเรียก
ว่าปัจจัย ๔ และของที่เป็นกัปปิยะอย่างอื่น ๆ อีก. ลาภนั้นที่ว่าเขาน้อม
ไว้เป็นของจะถวายสงฆ์นั้น คือเตรียมไว้ด้วยตั้งใจอย่างนั้น ยังไม่ทัน
จะได้ถวาย. ภิกษุน้อมลาภเช่นนั้นมาเพื่อตน คือขอเอาก็ดี พูดเลียบ
เคียงเพื่อเขาจะได้ให้ก็ดี ในประโยคที่ทำเป็นทุกกฏ ได้มาเป็นนิสสัคคีย์

คำเสียสละแก่บุคคลว่า "อิทํ เม ภนฺเต ชานํ สงฺฆิกํ ลาภํ ปริณตํ
อตฺตโน ปริณามิตํ นิสฺสคฺคิยํ, อิมาหํ อายสฺมโต นิสฺสชฺชามิ" แปลว่า
"ลาภนี้ เขาน้อมไปเป็นของจะถวายสงฆ์ ข้าพเจ้ารู้อยู่ น้อมมาเพื่อ
ตน จำจะสละ ข้าพเจ้าสละลาภนี้แก่ท่าน."
น้อมลาภที่เขาจะถวายสงฆ์ไปเพื่อสงฆ์หมู่อื่นก็ดี เพื่อเจดีย์ก็ดี
เป็นทุกกฏ. น้อมไปเพื่อบุคคล อนุโลมตามสิกขาบทนี้ ก็น่าจะเป็น
ทุกกฏเหมือนกัน แต่ปรับไว้เป็นปาจิตตีย์ ในสิกขาบทอื่น. น้อม
ลาภที่เขาจะถวายเจดีย์ก็ดี ที่เขาจะถวายบุคคลก็ดี ให้สับกันเสีย ท่านว่า
เป็นทุกกฏเหมือนกัน.
เพราะมีคำว่า รู้อยู่ อาบัติในสิกขาบทนี้ เป็นสจิตตกะ. ในสิกขา-
บทที่ปรับอาบัติเป็นสจิตตกะเช่นนี้ ภิกษุไม่รู้แน่ แต่สงสัย ขืนล่วง
ต้องทุกกฏ. ทำด้วยไม่รู้ ไม่เป็นอาบัติ. เฉพาะในสิกขาบทนี้
เขาปรึกษา บอกแนะนำ ไม่เป็นอาบัติ.
สรูปนิสสัคคิยวัตถุ
ของที่เป็นนิสสัคคีย์ใน ๓๐ สิกขาบทนี้ ควรจะจัดเข้าได้เป็น
๓ หมวด.
หมวดที่ ๑ เป็นนิสสัคคีย์โดยวัตถุ.
หมวดที่ ๒ เป็นนิสสัคคีย์โดยอาการของภิกษุ.
หมวดที่ ๓ เป็นนิสสัคคีย์โดยล่วงเวลา.
หมวดที่ ๑ เป็นนิสสัคคีย์โดยวัตถุ
ทองเงิน ของเป็นกัปปิยะที่แลกเปลี่ยนด้วยรูปิยะ สันถัตที่หล่อ

เจือด้วยไหม สันถัตที่หล่อด้วยขนเจียมดำล้วน สันถัตที่หล่อใช้ขน
เจียมดำเกินส่วน.
หมวดที่ ๒ เป็นนิสสัคคีย์โดยอาการของภิกษุ
โดยกิริยาที่ได้มา
จีวรที่ได้รับจากมือนางภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ จีวรที่ขอต่อคฤหัสถ์
ผู้มิใช่ญาติมิใช่ปวารณา จีวรที่ขอเกินกำหนดในเมื่อมีสมัยที่จะขอได้
จีวรที่สั่งให้เขาจ่ายดีขึ้นไปกว่าที่เขากำหนดไว้มี ๒ ชนิด จีวรที่ได้มา
ด้วยทวงเกินกำหนด ของที่แลกเปลี่ยนกับคฤหัสถ์ได้มา บาตรที่
ขอเขาในกาลยังไม่ควร จีวรที่ให้แก่ภิกษุอื่นแล้วชิงเอาคืนมา ด้าย
ที่ขอเขามาทอจีวร จีวรที่สั่งให้ช่างหูกทอดีกว่าเจ้าของเขากำหนดไว้
ลาภสงฆ์ที่น้อมมาเพื่อตน.
โดยกิริยาที่ทำ
จีวรที่ใช้ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ให้ซักก็ดี ให้ย้อมก็ดี ให้ทุบก็ดี
สันถัตที่หล่อใหม่ในเมื่อใช้สันถัตเก่ายังไม่ถึง ๖ ปี สันถัตที่หล่อใหม่
ไม่เอาสันถัตเก่าปน.
โดยกิริยาทำให้ล้ำกำหนด
จนเจียมที่ถือมาเองเกิน ๓ โยชน์ ผ้าอาบน้ำฝนที่หาได้หรือทำ
นุ่งล้ำวันกำหนด.
หมวดที่ ๓ เป็นนิสสัคคีย์โดยล่วงเวลา
ไตรจีวรอยู่ปราศเกินราตรีหนึ่ง อติเรกจีวรล่วง ๑๐ วัน
อดิเรกบาตรล่วง ๑๐ วัน อกาลจีวรที่ได้อนุญาตเกินเดือนหนึ่ง อัจเจก-

จีวรล่วงจีวรกาล จีวรอยู่ปราศเกิน ๖ คืน ในคราวได้อนุญาตพิเศษ
เภสัชล่วง ๗ วัน.
ของเป็นนิสสัคคีย์ นอกจากทองเงิน และของเป็นกับปิยะแลก
เปลี่ยนด้วยรูปิยะ และบาตรที่ขอได้มาใหม่ในการไม่ควร ท่านกล่าว
ว่าสละแก่สงฆ์ก็ได้ แก่คณะก็ได้ แก่บุคคลก็ได้ แต่ ๓ อย่างนั้น
ให้สละในสงฆ์. ใคร่ครวญดูของที่อนุญาตให้สละแก่บุคคลได้ ใคร
เลยจะสละแก่สงฆ์ แก่คณะ ให้ลำบากขึ้นไปกว่า คำที่ว่าไว้นั้นดูไม่มี
ประโยชน์. ถ้าคำนั้น เป็นถ้อยคำที่ไม่ปราศจากประโยชน์ น่าจะมี
กำหนดว่า ของเช่นไรควรสละแก่สงฆ์ ของเช่นไรควรสละแก่บุคคล
คณะไม่ต้องพูดถึง เพราะในวัดไม่มีภิกษุครบองค์เป็นสงฆ์ มีเพียง
๓ รูป ๒ รูป เรียกว่าคณะ จะสละแก่สงฆ์ไม่ได้ ก็ต้องสละแก่คณะ.
อนึ่ง ของที่สละแล้วนั้น ท่านกล่าวไว้เป็นธรรมเนียมที่สงฆ์ก็ดี คณะ
ก็ดี บุคคลก็ดี ผู้รับสละ จะพึงคืนให้แก่เจ้าของเดิม เว้นไว้แต่เสียสละ
ของ ๓ อย่างที่ระบุไว้ข้างต้น. และของที่ได้คืนมานั้น สิ่งไรใช้ได้
อีก สิ่งไรใช้ไม่ได้ ท่านไม่กล่าวไว้ให้ชัด เว้นไว้แต่ของบางสิ่ง
เช่น เภสัชล่วง ๗ วัน. แต่มีแง่อยู่อย่างหนึ่งว่า ในที่บางแห่งท่าน
กล่าวว่า ไม่สละจีวรเป็นนิสสัคคีย์ ใช้สอยต้องอาบัติทุกกฏ ในที่
บางแห่งท่านหากล่าวไม่. ในที่อันกล่าวไว้ ของที่ได้คืนมาแล้ว
ใช้ได้อีกกระมัง ? ตามธรรมเนียมที่พวกภิกษุเคยใช้กันมา ไตรจีวรอยู่
ปราศล่วงราตรีหนึ่ง อติเรกจีวรและอติเรกบาตรล่วง ๑๐ วัน เสียสละ
แล้วได้มา ใช้ได้อีก แต่ไตรจีวรต้องอธิษฐานใหม่ อติเรกจีวร และ

อติเรกบาตรก็นับวันไปใหม่. ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ของที่เป็นนิสสัคคีย์
โดยวัตถุหมวดที่ ๑ ย่อมไม่ควรโดยส่วนเดียว ไม่น่าจะเป็นของจะพึง
คืนให้อีก เพราะได้มาแล้วก็ใช้สอยไม่ได้ การให้คืนดูหาประโยชน์
มิได้. ของเป็นนิสสัคคีย์โดยล่วงกาลหมวดที่ ๓ ไม่ได้เป็นอกัปปิยะ
โดยชาติและโดยอาการที่ได้มา เป็นแต่ล่วงวันกำหนดพระพุทธานุญาต
เท่านั้น ของเช่นนี้ เสียสละแล้ว น่าจะให้คืน และเป็นของที่ควร
จะบริโภคได้อีก เว้นไว้แต่เภสัช มีชัดอยู่แล้วว่า ให้ใช้ในกิจอื่น
นอกจากกลืนกิน. ของเป็นนิสสัคคีย์โดยอาการของภิกษุหมวดที่ ๒
โดยกิริยาเป็นเหตุได้มา ไม่น่าจะเป็นของใช้ได้อีก โดยกิริยาที่ทำ
และโดยกิริยาที่ให้ล่วงกำหนดพระพุทธานุญาต น่าจะเป็นของใช้ได้อีก
เว้นไว้แต่ผ้าวัสสิกสาฎก ที่ขอในสำนักคนต้องห้าม. จะควรเสียสละ
ให้แก่ใครนั้น ถ้าจะให้คำในคัมภีร์วิภังค์มีประโยชน์แล้ว ก็น่าจะ
สละแก่สงฆ์ก่อน ในวัดที่มีพระน้อย หาภิกษุครบองค์เป็นสงฆ์ไม่ได้
ก็น่าจะสละแก่คณะ ถ้าหาคณะไม่ได้ จึงควรสละแก่บุคคล. แต่วิธีนี้
ดูเหมือนจะลำบากมากไปสำหรับในบัดนี้. เพราะฉะนั้น ควรจะดู
ตามอนุรูป ถ้าการต้องอาบัตินั้น เป็นเหตุฉาวกระฉ่อน เป็นที่รังเกียจ
ของคนมาก ควรสละในสงฆ์ ถ้าไม่มีใครถือเอาเป็นข้อรับเกียจใหญ่โต
ควรสละแก่บุคคลได้, ถ้าเป็นของไม่ควรบริโภคอีก คำเสียสละ
ไม่ควรจะว่า "สงฺฆสฺส" แก่สงฆ์ "อายสฺมโต" แก่ท่าน ควรจะว่า
เพียง "อิมาหํ นิสฺสชฺขามิ" ข้าพเจ้าสละของนี้เสีย. เพราะของเป็น
อกัปปิยะ สงฆ์ก็ดี บุคคลก็ดี จะรับเอาไว้อย่างไร. การที่ทำนี้

ก็เพื่อจะแสดงให้ปรากฏ หรือให้เห็นเป็นพยานว่า ได้แก่ตัวเพราะข้อนั้น
แล้ว. ส่วนของที่เป็นอกัปปิยะนั้น ก็ควรบอกให้คฤหัสถ์ หรือทิ้งเสีย
อนุโลมตามอย่างทองเงิน. ต่อของเป็นกัปปิยะควรจะบริโภคได้อีก จึง
คืนให้เจ้าของเดิม. ของเป็นนิสสัคคีย์ แต่สูญหาไปเสียแล้ว ไม่มี
จะเสียสละ เป็นแต่พึงแสดงอาบัติเท่านั้น. จะพึงแสดงต่อสงฆ์ หรือ
ต่อบุคคล พึงเห็นโดยนัยอันกล่าวแล้ว.
ในบัดนี้ สิกขาบทที่ล่อแหลมที่ภิกษุจะล่วงก็มีน้อย อธิบาย
ไว้ยืดยาวดังนี้ เพื่อเป็นทางสำหรับผู้ศึกษา.
อาบัติตั้งแต่นิสสัคคิยปาจตตีย์ลงไป จัดเป็นอาบัติเบา เรียก
ลหุกาบัติ และจะพ้นได้ด้วยวิธีแสดง เรียกเทสนาคามินี. ถุลลัจจัย
ก็จัดเข้าในหมวดนี้เหมือนกัน.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น