วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

กัณฑ์ที่ ๓ สิกขาบท

กัณฑ์ที่ ๓
สิกขาบท

พระบัญญัติมาตราหนึ่ง ๆ เป็นสิกขาบทอันหนึ่ง ๆ.

 สิกขาบทนั้นทรงตั้งขึ้นด้วยเป็นพุทธอาณา ที่ได้แก่อาทิพรหมจริยกาสิกขาก็มี ทรงตั้งขึ้นด้วยเป็นอภิสมาจาร คือขนบธรรมเนียม ที่ได้แก่อภิสมาจาริกาสิกขาก็มี.

อย่างก่อนนั้น มาในพระปาติโมกข์ มีพระพุทธานุญาตให้สวดในที่ประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน.

อย่างหลังนั้น มานอกจากพระปาติโมกข์ เว้นไว้แต่เสขิยวัตรซึ่งมาในพระปาติโมกข์ กระทู้นี้เป็น
สำคัญควรใส่ใจ. ในหนังสือนี้ จักตั้งกระทู้นี้เป็นหลัก และจักพรรณนาความตามกระทู้นี้.

จำนวนแห่งสิกขาบท มาในพระปาติโมกข์มีพอประมาณ จำนวนแห่งสิกขาบท มานอกพระปาติโมกข์มีมากกว่ามาก จนพ้นความใส่ใจของผู้ศึกษา เรียกว่าพ้นคณนาก็ได้. นอกจากนี้ ยังมีข้อปรับอาบัติอันพระคันถรจนาจารย์ตั้งเพิ่มเติมเข้าไว้อีก เรียกว่าบาลีมุตตกทุกกฎ.

สิกขาบทเหล่านี้ ย่อมปรากฏเห็นเป็นมากจนฟั่นเฝือ เหลือที่จะประพฤติให้ครบครันได้ ทั้งกาลเทศะก็เข้ามาเป็นเหตุขัดขวางด้วย ภิกษุทั้งหลายจึงได้หาทางหลีกเลี่ยงบ้าง เลิกเสีย กล่าวคือทนเป็นอาบัติเอาบ้าง เมื่อเลิกอย่างหนึ่งแล้ว ก็ชวนให้เลิกอย่างอื่นต่อไปอีก แม้ยังไม่ถึงเวลา.
พระศาสดา ทรงคำนึงเห็นเหตุนี้มาแล้ว เมื่อจะนิพพาน ได้ประทาน
พระพุทธานุญาตไว้ว่า ถ้าสงฆ์ปรารถนา ก็จงถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้.

แต่ก็ไม่มีใครกล้าถอนตรง ๆ เพราะเกรงจะไม่สม่ำเสมอกัน ซ้ำพระ
ธรรมสังคาหกาจารย์ทั้งหลายห้ามเสีย เมื่อครั้งทำประถมสังคายนาด้วย.
แม้อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลายก็ได้ถอนข้อที่ตนเห็นว่าเล็กน้อยเสีย แต่
ได้ถอนโดยทางอ้อม คือไม่ตั้งใจรักษา ทนต้องอาบัติเอา. ข้าพเจ้า
ตรองหาอุบายจะเรียงพระวินัย แก้ความฟั่นเฝือของสิกขาบททั้งหลาย
เสีย เพื่อบำรุงความศึกษาและความปฏิบัติของภิกษุทั้งหลายให้ดีขึ้น
มาคำนึงถึงท่านจัดสิกขาในฝ่ายศีลเป็น ๒ คือ อาทิพรหมจริยกาสกขา
และอภิสมาจาริกาสิกขา แล้วนำมาเทียบกับสิกขาบทมาในพระปกติโมกข์
และนอกจากนั้น ได้พบว่าลงรอยกัน จึงได้ลงสันนิษฐานว่า จักแต่ง
พรรณนาตามกระทู้ข้างต้น จัดเอาสิกขาบทมาในพระปาติโมกข์ เป็น
พุทธอาณาที่จะต้องรักษาไว้เป็นหลัก จัดเอาสิกขาบทนอกจากนั้นเป็น
อภิสมาจาร คือ ขนบธรรมเนียมของภิกษุที่จะพึงรักษาตามสามารถ. แม้
จะขาดตกบกพร่องบ้าง ก็ไม่ถึงกับเสียความเคร่งหรือเป็นอลัชชีดอก
แต่ภิกษุที่สมมติว่าเป็นพระอริยบุคคลแล้ว ยังต้องอาบัติเหมือนกัน.
จะขอสาธกความนั้นด้วยบาลีในพระสูตรหนึ่ง ซึ่งแปลเอาแต่ใจความ
ตามที่ต้องการ ดังนี้ "ภิกษุทั้งหลาย สิกขาบท ๑๕๐ ถ้วนนี้ ย่อมมาสู่
อุทเทส [คือความสวดในท่ามกลางสงฆ์]ทุกกึ่งเดือน ที่กุลบุตรทั้งหลาย
ผู้ปรารถนาประโยชน์ศึกษากันอยู่. ภิกษุทั้งหลาย สิกขานี้มี ๓
ที่สิกขาบททั้งปวงนั้นย่อมรวมกันอยู่. สิกขา ๓ นั้น คืออะไรบ้าง.
สิกขา ๓ นั้น คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา. ภิกษุ
ทั้งหลาย นี้แล สิกขา ๓ ที่สิกขาบททั้งปวงนั้นรวมกันอยู่. ภิกษุทั้งหลาย

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล เป็นผู้ทำพอประมาณ
ในสมาธิ เป็นผู้ทำพอประมาณในปัญญา [คือเป็นโสดาบัน เป็น
สกทาคามี] บ้างก็มี เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ ทั้งในศีล ทั้งในสมาธิ แต่
เป็นผู้ทำพอประมาณในปัญญา [คือเป็นอนาคามี] บ้างก็มี เป็นผู้ทำ
ให้บริบูรณ์ ทั้งในศีล ทั้งในสมาธิ ทั้งในปัญญา [คือเป็นอรหันต์]
บ้างก็มี เธอย่อมล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง ย่อมออกจากอาบัติบ้าง.
เหตุไฉนจึงเป็นอย่างนั้น. ภิกษุทั้งหลาย เหตุว่าไม่มีใครกล่าวความเป็น
คนอาภัพ [คือไม่อาจบรรลุโลกุตตรธรรม] เพราะเหตุล่วงสิกขาบทนี้.
ก็แต่ว่าสิกขาบทเหล่าใด เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ สมควรแก่
พรหมจรรย์ เธอเป็นผู้มีศีลยั่งยืน เป็นผู้มีศีลมั่นคง ในสิกขาบท
เหล่านั้น สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย. ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ
ผู้ทำได้ดีเพียงเอกเทศ ย่อมทำได้ดีเพียงเอกเทศ ผู้ทำให้บริบูรณ์ได้
ย่อมทำให้บริบูรณ์ อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย เราจึงกล่าวว่าสิกขาบท
ทั้งหลายหาเป็นหมันไม่." พระสูตรนี้มาในวรรคที่ ๔ แห่งทุติยปัณณา-
สกะติกนิบาต อังคุตตรนิกาย ขึ้นที่หน้า ๓๐๑ แห่งฉบับพิมพ์ของหลวง
ผู้ต้องการจงพลิกดูเถิด. ตามพระสูตรนี้ ยังจัดสิกขาบทที่มาในพระ-
ปาติโมกข์เป็นสำคัญ ที่ว่าเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์บ้างก็มี เป็น
สิกขาบทเล็กน้อยบ้างก็มี. ในที่นี้จัดเอาสิกขาบทที่มาในพระปาติโมกข์
ทั้งมวลเป็นสิกขาบทสำคัญ ก็กว้างกว่าในพระสูตรอยู่แล้ว.

สิกขาบทมาในพระปาติโมกข์
บาลีพระสูตรซึ่งแปลมาไว้ในที่นี้แสดงว่า สิกขาบทมาในพระปาติโมกข์มี ๑๕๐ ถ้วน นับให้ครบจำนวนได้ดังต่อไปนี้ :-

ปาราชิก ๔
สังฆาทิเสส ๑๓ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ สุทธิกปาจิตตีย์ ๙๒ ปาฏิเทสนียะ ๔ อธิกรณสมถะ ๗ รวมเป็น ๑๕๐ ถ้วน แต่ในพระปาติโมกข์ที่สวดกันอยู่ และในคัมภีร์วิภังค์แห่งสิกขาบท แสดงว่ามี ๒๒๗ สิกขาบท คือเติม อนิยต ๒ เสขิยวัตร ๗๕.

ตามนัยนี้สันนิษฐานเห็นว่า ชะรอยเดิมจะมีเพียง ๑๕๐ ถ้วน ตามที่กล่าวไว้ในพระสูตร ก่อนแต่ทำสังคายนาครั้งใดครั้งหนึ่ง ที่แจกอรรถแห่งสิกขาบท ซึ่งเรียกว่าบทภาชนะ และสงเคราะห์เข้าเป็นส่วนอันหนึ่งแห่งคัมภีร์วิภังค์นั้น หรือในครั้งนั้นเองจะได้เติมอนิยต ๒ และเสขิยวัตร ๗๕ เข้าด้วย.

ความข้อนี้ ก็น่าเห็นจริงอย่างนั้น อนิยตสิกขาบทไม่ได้ปรับอาบัติลงเฉพาะเหมือนสิกขาบทอื่น เป็นสิกขาบทที่แฝงอยู่ดังกาฝาก คงจะเกิดขึ้นเพราะเรื่องภิกษุต้องหาว่าอยู่ในที่ลับกับหญิงสองต่อสอง แต่สันนิษฐานลงเป็นหนึ่งไม่ได้ว่า นั่งหรือยืน ทำอะไรกันบ้างหรือไม่.

ส่วนเสขิยวัตรนั้นก็มีอยู่ในที่อื่นแล้ว คือในวัตตขันธกะคัมภีร์จูฬวรรค และไม่เป็นข้อใหญ่โตอะไร เป็นแต่เพียงอภิสมาจารทั้งไม่ได้ปรับอาบัติไว้เฉพาะด้วย.

ในที่นี้ข้าพเจ้าจักกล่าวสิกขาบทที่มาในพระปาติโมกข์ ตามนัยที่มาในพระวินัย.

สิกขาบทที่มาในพระปาติโมกข์นั้น ปรับอาบัติแก่ภิกษุผู้ละเมิดไว้ครบทุกชื่อ โดยตรง ๔ คือ ปาราชิก สังฆาทิเสส ปาจิตติยะ อันต่างโดยนิสสัคคิยะและสุทธิกะ และปาฏิเทสนียะ โดยอ้อย ๓ คือถุลลัจจัย ทุกกฏ ทุพภาสิต.

สิกขาบทที่ทรงบัญญัติ ปรับอาบัติสูงกว่าทุกกฏขึ้นไป ต่างว่ามีภิกษุพยายามจะละเมิด แต่ไม่ได้ทำความผิดเต็มดังกล่าวไว้ในสิกขาบทเช่นพยายามจะฆ่ามนุษย์ และให้ประหารแล้ว แต่เขาไม่ตาย เช่นนี้
จะปรับอาบัติปาราชิกไม่ได้อยู่เอง แต่จะว่าไม่มีโทษก็ไม่ได้เหมือนกันเพราะเหตุนั้น ท่านจึงปรับอาบัติหย่อนลงมา เหมือนกฎหมายสำหรับบ้านเมือง ที่วางโทษแก่ผู้ทำผิดไว้อย่างแรง ถ้าทำผิดไม่ถึงที่ ก็ลงโทษหย่อนลงมา พึงเห็นในโทษฆ่าคนนั้นเถิด.

อาบัติที่ลดจากปาราชิกและสังฆาทิเสส เพราะทำผิดไม่ถึงที่นั้น ถุลลัจจัยบ้าง ทุกกฏบ้าง.

อาบัติ
ที่ลดจากปาจิตตีย์เว้นโอมสวาท และที่ลดจากปาฏิเทสนียะ มีแต่ทุกกฏอย่างเดียว. อาบัติที่ลดจากโอมสวาทสิกขาบท มีทุพภาสิตด้วย.

ในเสขิยวัตรข้อหนึ่ง ๆ มีคำว่า พึงทำความศึกษาอย่างนั้น ๆ อธิบายตาม
วิภังค์ว่า ถ้าไม่เอื้อเฟื้อต้องทุกกฏ.

อาบัติเช่นนี้เรียกเอาชื่อวิภังค์เข้าประกอบว่า วิภังคถุลลัจจัย วิภังคทุกกฏ เพื่อจะให้แปลกจากอาบัติใน
ที่อื่น ส่วนทุพภาสิตนั้นเรียกลอย ๆ เพราะมาในวิภังค์แห่งเดียว.

ส่วนสิกขาบทเดิมเป็นต้นเค้านั้นเรียกว่ามาติกา.

ในที่นี้กล่าวความแห่งสิกขาบทหนึ่งแล้ว จักแจกอาบัติในวิภังค์นั้นด้วย ในที่อันควรจะกล่าว.

ข้าพเจ้าปรารถนาและแสดงสิกขาบททั้งหลายให้เป็นหมวด ๆ ตามความหมายของสิกขาบท เพื่อผู้ศึกษา
จะได้หยั่งเห็นโทษหนักเบาถนัด แต่การที่ไม่กล่าวตามลำดับในพระปาติโมกข์นั้น จะให้จำและค้นคว้ายากเหมือนกัน เหตุนั้น จักกล่าวตามลำดับในพระปาติโมกข์ก่อน แล้วจึงจักจัดเข้าหมวดต่อไป.

สิกขาบทมาในพระปาติโมกข์นั้น จัดเข้าเป็นพวกตามชนิดแห่งอาบัติ เช่น ปาราชิกพวก ๑ สังฆาทิเสสพวก ๑ เป็นต้น เรียกว่าอุทเทสอันหนึ่ง ๆ เช่น ปาราชิกุทเทส สังฆาทิเสสุทเทส เป็นต้น แต่เสขิยวัตรนั้น เรียกเสขิยุทเทส อุทเทสเหล่านี้ มีนิทานุทเทส นำหน้ากล่าววิธีอันภิกษุผู้ฟังปาติโมกข์ควรประพฤติอย่างไร รวมเป็น ๙ อุทเทสด้วยกัน.

ผู้ไม่เข้าใจมคธภาษา ปรารถนาจะรู้ความแห่งอุทเทสเหล่านี้จงดูในพระปาติโมกข์แปลเถิด.

ในที่นี้ ข้าพเจ้าจักแสดงเท่าสิกขาบทและจักแปลความแห่งสิกขาบททั้งหลายตามสำนวนบาลีเดิม เพื่อผู้ศึกษาจะได้รู้จักสันนิษฐาน ถ้อยคำและโวหาร และจักอธิบายความในที่ควรรู้ไว้ด้วย.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น